กบง.สั่งทบทวนผลตอบแทนรายได้ 3 การไฟฟ้าให้สอดคล้องเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากโควิด-19

- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มอบ กกพ.ทบทวนผลตอบแทนรายได้ 3 หน่วยงานการไฟฟ้าทั้ง กฟผ. กฟน. และกฟภ.ให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบัน  พร้อมให้ทบทวนอัตราค่าบริการจัดหา ค้าส่งก๊าซฯและทบทวนค่าบริการขนส่งก๊าซฯทางท่อให้เหมาะสม และนำกลับมาเสนอ กบง.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งประชุม เมื่อวันที่ 21 ก.ย นี้ มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาทบทวนในหลายเรื่องและนำกลับมารายงานที่ประชุม กบง.อีกครั้งดังนี้

-ทบทวนความเหมาะสมของผลตอบแทนรายได้ของหน่วยงาน 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

- Advertisment -

โดยปัจจุบันทั้ง 3 การไฟฟ้ามีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน หรือ Return on Invested Capital (ROIC)อยู่ประมาณกว่า 5% โดยหากกลับไปใช้ระบบอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ หรือ SFR  (Self -Financial Ratio )ที่ผลกำไรจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้มากกว่า

-ทบทวนการกำหนดต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดย กบง.ยังไม่เห็นชอบแนวทางของ สนพ.ที่เสนอให้โครงสร้างราคา NGV ไปอิงกับราคาน้ำมันดีเซลในสัดส่วน 70% ของราคาดีเซล และให้กลับไปทบทวนใหม่ เนื่องจากมีการร้องเรียนจากประชาชนที่ต้องการให้โครงสร้างราคาส่งผลให้ NGV มีราคาถูกที่สุด

-ทบทวนการกำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซฯและทบทวนค่าบริการขนส่งก๊าซฯทางท่อให้เหมาะสม

-ทบทวนหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินกองทุนฯ โครงการต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

ที่ประชุมกบง.ยัง เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว จากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศ และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
บี 20 เป็นทางเลือก จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป และการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 ในส่วนของค่า X จากเดิมเป็นค่าเฉลี่ย เป็นอัตราต่ำ ซึ่งจะทำให้การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 ลดลงประมาณ 0.051 บาทต่อลิตร (ณ ราคาไบโอดีเซลที่ 25.90 บาทต่อลิตร) ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ค้าน้ำมันเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลบี 10 ในการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) รัฐบาลยังคงช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพและภาระค่าครองชีพจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กบง. จึงให้คงราคาขายปลีก LPG ออกไปอีก 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563) ให้ราคาขายส่ง LPG หน้าโรงกลั่น ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม อยู่ที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยใช้กองทุนน้ำมันฯในส่วนของบัญชี LPG มาบริหาร (รายจ่ายประมาณ 450 ล้านบาท/เดือน) ซึ่งเป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท หรืออีกประมาณ 5 เดือน (ตุลาคม 2563 – มกราคม 2564) ณ วันที่ 13 กันยายน 2563 บัญชีก๊าซ LPG -7,424 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไป

รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการส่งออกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยให้ยกเลิกมติเดิม และมอบหมายให้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นผู้อนุญาตการส่งออก LPG เป็นรายเที่ยว สำหรับการส่งออกจากปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศจะพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เป็นผู้ผลิต LPG และให้ส่งออกได้ในปริมาณ   ไม่เกินกว่าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พิจารณามาตรการ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ หากเกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแจ้งให้ ธพ. ทราบ

Advertisment