กกพ. เปิดรับฟังความเห็นร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ถึง 4 พ.ค. นี้ ก่อนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจริงช่วงเดือน มิ.ย. 2565

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ระหว่าง 20 เม.ย.-4 พ.ค. 2565 ก่อนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจริงช่วงเดือน มิ.ย. 2565 นี้ ระบุต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาและส่งรายชื่อมาให้กระทรวงพลังงานแล้วเท่านั้น กำหนดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี ให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2567 ยืนยันให้ใช้เฉพาะขยะมูลฝอยผลิตไฟฟ้า ยกเว้นระหว่างเริ่มเดินเครื่องให้ใช้น้ำมัน หรือก๊าซฯ ได้ แต่ห้ามใช้ถ่านหินเด็ดขาด เนื่องจากเป็นโครงการที่ผูกพันกับด้านสิ่งแวดล้อม

รายงานข่าวจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) แจ้งว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกร่างประกาศการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน พ.ศ. …. เพื่อเปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 20 เม.ย.-4 พ.ค. 2565 นี้ ผ่านทางเว็บไซต์ กกพ. (www.erc.or.th) เพื่อเตรียมประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะเร็วๆนี้

เบื้องต้นได้กำหนดกรอบเวลากระบวนการเปิดรับข้อเสนอขายไฟฟ้าภายในเดือน มิ.ย. 2565 และกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) ที่เสนอขายไฟฟ้ามากกว่า 10 เมกะวัตต์ ให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ที่เสนอขายไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ให้ยื่นเรื่องได้ที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA) ตามพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า และกำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(SCOD) ภายในปี 2567

- Advertisment -

สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนดังกล่าวนี้ เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ รวมทั้งแผนแม่บทระดับชาติของรัฐบาลในการกำจัดขยะมูลฝอยโดยมีผลพลอยได้เป็นพลังงาน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลตามข้อตกลงระหว่างประเทศในด้านพลังงานหรือสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้รายละเอียดร่างประกาศดังกล่าวระบุสาระสำคัญดังนี้ กกพ.จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT) จากผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าตามรายชื่อโครงการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเท่านั้น (โครงการที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาและเสนอรายชื่อมายังกระทรวงพลังงาน)

โดยคุณสมบัติเบื้องต้น ต้องเป็นคู่สัญญาโครงการกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้ากับราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง, ต้องมีความพร้อมด้านที่ดิน เทคโนโลยีและด้านเงินทุน โดยมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ตามขนาดกำลังผลิตติดตั้ง มีความสามารถจัดหาเชื้อเพลิงตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้เสนอขายไฟฟ้าต้องวางหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 500 บาทต่อกิโลวัตต์ ของปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีอายุ 20 ปี ในกรณีผู้ผลิตไฟฟ้าไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ได้ตามกำหนดภายใน 60 วัน การไฟฟ้าจะคิดค่าปรับต่อวันในอัตรา 0.33% ของวงเงินหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และหากไม่สามารถ COD ได้ภายใน 12 เดือน สัญญาเป็นอันสิ้นสุด แต่หากมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบจริง ทางการไฟฟ้าจะคืนหลักประกันภายใน 30 วันนับถัดจากวัน COD รวมทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า และให้ข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของไทยตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

สำหรับการผลิตไฟฟ้านั้น ผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่องหรือการควบคุมรักษาอุณหภูมิเตาเผาขยะ สามารถใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงร่วมด้วยได้ แต่ห้ามใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงโดยเด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center : ENC) รายงานว่า โครงการที่ทาง สถ.จัดทำเป็นลิสต์โครงการเอาไว้ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าประเภทVSPP ขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ จำนวน 26 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 187 เมกะวัตต์ โดยเอกชนที่มีโครงการอยู่ในมือมากที่สุดคือ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 8 โครงการกำลังการผลิตรวม 52.7เมกะวัตต์ รองลงมาคือกลุ่มเมโทร เอ็นเนอยี่ 3 โครงการ กำลังการผลิต รวม 23.2 เมกะวัตต์ กลุ่มบริษัทท่าฉาง อุตสาหกรรม 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 22 เมกะวัตต์

Advertisment

- Advertisment -.