กกพ.เล็งใช้เงินกองทุนฯมาตรา97(1) เยียวยาผู้ใช้ไฟ แต่หวั่นกระทบสภาพคล่อง3 การไฟฟ้า

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมประชุม 29 เม.ย.2563 นี้ หารือดึงเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาตรา 97(1) เกือบ 23,000 ล้านบาท ช่วยเยียวยาค่าไฟฟ้าประชาชน 22 ล้านครัวเรือน  ตามมติ ครม.โดยยังมีประเด็นข้อกังวลเรื่องการใช้เงินว่าสอดคล้องตามที่ระบุไว้ในข้อกฏหมายหรือไม่ ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของทั้ง กฟผ. กฟน.และ PEA หรือไม่ และการไม่มีเงินเหลือไว้พยุงค่าไฟฟ้า(ค่าเอฟที)ในอนาคต

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy New Center-ENC) รายงานถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 21 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา ที่รับทราบมาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้า ให้กับกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย ครอบคลุมประมาณ 22 ล้านครัวเรือน ระหว่างเดือนมี.ค. – พ.ค. วงเงิน 23,688 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการตามมติ  เตรียมหารือกันในวันที่ 29 เม.ย. 2563 นี้ เพื่อพิจารณานำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะมีจำนวนเงินถึง 23,688 ล้านบาทหรือไม่ โดยหากมีไม่เพียงพอก็จะต้องรายงานกระทรวงพลังงานเพื่อหาแนวทางอื่นเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับเงินตามมาตรา 97 (1) ตามกฏหมายระบุไว้ว่าเป็นเงินกองทุนที่ให้ใช้จ่ายเพื่อ การชดเชยและอุดหนุน ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจาย
ความเจริญไปสู่ภูมิภาค  ซึ่งปัจจุบันมีสะสมอยู่ประมาณ 23,000 ล้านบาท

- Advertisment -

ทั้งนี้การนำเงินจากกองทุนตามมาตราดังกล่าว มาใช้เยียวยากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตามมติครม. จะต้องพิจารณาด้วยว่า สอดคล้อง กับเนื้อหาตามที่ระบุไว้ในกฏหมาย หรือไม่ เพราะกฏหมายระบุชัดเจนว่าให้ใช้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

ทั้งนี้ หาก กกพ.พิจารณาแล้วว่าใช้ได้โดยไม่ขัดต่อข้อกฏหมาย ก็จะมีปัญหาตามมา ว่า กกพ.จะไม่มีเงินเหลือพยุงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ในงวดถัดไปในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2563 และงวดต่อๆไป

อย่างไรก็ตามราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มถูกลงตามราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน ก็อาจจะทำให้ค่าเอฟที งวดก.ย.-ธ.ค. 2563 ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นก็ได้

นอกจากนี้การใช้เงินให้หมดทั้ง 2.3 หมื่นล้านบาท ยังอาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของทั้ง 3 หน่วยงานการไฟฟ้าได้ เนื่องจากเงินกองทุนฯมาตรา 97(1) เป็นเงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ ทั้งจากในส่วน Claw back (เงินส่วนเกินจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน) ที่จะถูกเรียกคืนเข้ากองทุน  รวมทั้งเงินที่ กฟผ.และกฟน. ต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ จากการชดเชยเงินรายได้ระหว่างการไฟฟ้า (Financial Transfer) หรือ การชดเชยรายได้ให้เกิดความเป็นธรรมกับ PEA เนื่องจาก กฟผ.ขายส่งไฟฟ้าให้ กฟน.และ PEA เพื่อไปขายต่อในราคาที่เท่ากัน เพราะรัฐมีนโยบายให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาเท่ากันทั่วประเทศ แต่ PEA ต้องลงทุนสายส่งไฟฟ้าสูงกว่า  กฟน. ที่ลงทุนเชื่อมสายส่งเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล แต่มีความคุ้มค่าในการลงทุนต่ำกว่า  รัฐบาลจึงกำหนดให้ กฟผ.และกฟน. ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯเพื่อนำมาชดเชยส่วนต่างให้กับ PEA และเหลือเก็บไว้ในกองทุนฯเพื่อทยอยคืนให้กับประชาชนในรูปแบบที่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่นำมาใช้พยุงค่า Ft ไม่ให้ปรับสูงเกินไป เป็นต้น

ทั้งนี้ปกติการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯตามมาตรา97(1)ดังกล่าวจะทยอยจ่ายและเรียกเก็บแบบปีต่อปี แต่หาก กกพ.สั่งให้จ่ายคืนในครั้งนี้ทั้งหมดเพื่อนำมาใช้ในมาตรการพยุงค่าไฟฟ้าช่วยประชาชน ทาง 3 การไฟฟ้าอาจเกิดปัญหาสภาพคล่องได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการเป็นหนี้ที่มีกำหนดชำระทุกเดือน แต่อยู่ดีๆ เจ้าหนี้สั่งให้ชำระรวดเดียวทั้งหมดในเดือนเดียว ผู้ชำระหนี้ก็จะเกิดปัญหาการเงินได้ ดังนั้น กกพ. จึงได้ให้ทั้ง 3 การไฟฟ้าไปตรวจสอบสภาพการเงินของตัวเองเพื่อรายงานกลับมาที่กกพ.ด้วย

Advertisment

- Advertisment -.