กกพ.ส่งสัญญาณประชาชนรับสภาพค่าไฟแพง แต่ปีนี้ไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วย

- Advertisment-

โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่งสัญญาณประชาชนรับสภาพค่าไฟแพงแต่ปีนี้ไม่ถึง​5 บาทต่อ​หน่วย​ จากปัจจัยสำคัญที่ใช้ LNG นำเข้าซึ่งราคาแพงในสัดส่วนที่สูงถึง 40 %และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง มาอยู่ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์​สหรัฐ โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าเพื่อลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงพร้อมเสนอรัฐบาลกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการนำปิโตรเลียมจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาใช้ประโยชน์เพื่อลดการนำเข้า

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 65 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ไขข้อข้องใจ…รับมือค่าไฟครึ่งปีหลัง” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ ( Ft ) งวด เดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 นี้ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นจากตัวเลขเดิมที่เคยคำนวณไว้ที่ 40 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ในการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 33% จากการคำนวณค่าเอฟทีงวดก่อนหน้า(พ.ค-ส.ค.65)​ เป็นประมาณ 40% ในงวดที่จะถึงนี้เพื่อทดแทนก๊าซจากแหล่งเอราวัณ(G1/61)​ที่ยังผลิตได้น้อย ในขณะที่ก๊าซจากเมียนมาก็มีแนวโน้มลดลงจากการเปลี่ยนตัวโอเปอเรเตอร์

ทั้งนี้ก๊าซที่ผลิตในอ่าวไทยมีราคาที่ต่ำกว่าLNGนำเข้าค่อนข้างมาก โดยล่าสุดราคาปรับขึ้นเป็น 38 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูจากที่เคยลดลงมาอยู่ที่ 24 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลง จาก 33 เป็น 35 บาทต่อ1ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งล้วนแต่เป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

- Advertisment -

นายคมกฤช กล่าวว่า คาดว่าค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 จะประกาศได้ช่วงกลางเดือน ก.ค. 2565 นี้ เนื่องจากต้องรอการประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ แต่เบื้องต้นคาดว่า ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะปรับขึ้นไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วยอย่างแน่นอนจากปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังไม่รวมภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไว้ในงวดก่อนๆ ที่ผ่านมารวมกว่า 80,000 ล้านบาท หรือเป็นต้นทุนค่าไฟประมาณ 1 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช ตอบคำถามถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า อยากให้การปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปี 2565 นี้เป็นการปรับขึ้นครั้งเดียวจบ ว่าคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนที่คำนวณไว้เดิมตามราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นก็ต้องปรับขึ้นอย่างน้อย 40 สตางค์ต่อหน่วย และยังจะต้องมีการปรับเพื่อทยอยคืนหนี้ที่ กฟผ. ช่วยแบกภาระแทนประชาชนไว้ก่อน อีกประมาณ 1 บาทต่อหน่วยด้วย

นายคมกฤช กล่าวว่า การจัดการปัญหาผลกระทบค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา ของ กกพ. นั้นใช้เงินที่เรียกคืนจากการไฟฟ้า ที่คำนวณค่าเอฟทีเกินไว้ให้ มาใช้ ซึ่งได้ใช้ตามนโยบายไปหมดแล้ว ปัจจุบัน กกพ. ไม่มีเงินบริหารค่าเอฟทีเหลืออยู่แล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลจะมีนโยบายในการตรึงค่าเอฟที หรือขยายระยะเวลาช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็ต้องมีการจัดสรรเงินงบประมาณอื่นๆเข้ามาช่วย

“วันนี้ไม่ได้ต้องการอยากจะมาแจ้งข่าวร้ายกับประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้า แต่อยากจะชี้แจงให้เข้าใจถึงบริบทการใช้พลังงานของประเทศ ว่าเราต้องนำเข้าเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนแหล่งในประเทศที่มีปริมาณลดลง และยังเป็นจังหวะที่ราคาเชื้อเพลิงนำเข้านั้นแพงขึ้น แถมค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงอีก ในระยะสั้นแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบลงได้ก็คือต้องช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้า เพื่อที่จะลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้LNGนำเข้าที่มีต้นทุนสูงให้ได้มากที่สุด ” นายคมกฤช กล่าว

สำหรับการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าในระยะสั้นนั้น โฆษก กกพ. กล่าวว่าได้บริหารจัดการโรงไฟฟ้าให้เปลี่ยนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่สามารถใช้น้ำมันดีเซลได้ ให้เดินเครื่องด้วยดีเซลก่อน รวมทั้งยืดเวลาปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จากเดิมหมดอายุในปี 2564 ให้ยืดเวลาออกไปเป็นปี 2568 เพื่อลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพง และการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)แล้ว ประมาณ 30 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 60 เมกะวัตต์ รวมปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ที่จะเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม

พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) สำหรับภาคประชาชน(กลุ่มบ้านอยู่อาศัย) โดยได้สนับสนุนโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 และจากข้อมูลถึงปี 2564 พบว่า มีปริมาณไฟฟ้ารวมประมาณ 9 เมกะวัตต์ จำนวนเกือบ 1,622 ราย รวมถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลฯ และสถานศึกษา ก็พบว่า มีปริมาณติดตั้งเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน แนวทางการรับมือค่าไฟฟ้าแพงนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ประชาชนทุกคนควรร่วมมือกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด

นายคมกฤช ยังนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าในระยะยาวด้วยว่า รัฐบาลควรจะมีความชัดเจนว่าจะเดินทิศทางไหนระหว่างการมุ่งใช้LNGนำเข้า หรือการเร่งเจรจาให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาที่จะเป็นแหล่งพลังงานที่มาช่วยทดแทนการนำเข้าในอนาคต

โดยหากมุ่งเน้นไปที่การใช้LNGนำเข้าก็จะต้องมีการลงทุนสร้างท่อส่งและคลังเก็บ LNG รองรับให้เพียงพอให้มากกว่าปัจจุบัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง และเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน และถือว่าลงทุนไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ หากในภายหลังสามารถเจรจานำก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่ามาใช้ได้สำเร็จ

Advertisment

- Advertisment -.