กกพ.นัดถกปตท.ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้าLNG ในภูมิภาค

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเชิญบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หารือแนวทางปฏิบัติให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG HUB )ในระดับภูมิภาคอาเซียน เบื้องต้น ปตท.ได้เสนอรูปแบบธุรกิจให้ กกพ.พิจารณาแล้ว แต่ต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะใช้รูปแบบธุรกิจในโครงการ ERC Sandbox หรือ มีรูปแบบธุรกิจอื่นๆ ด้วย

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมเชิญบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT มาหารือถึงแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG HUB ) ในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ หลังจาก ปตท.ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วม “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox :ERC Sandbox) ของ กกพ. เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการ Regional LNG Hub ของ ปตท. และโครงการการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจี ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด

เบื้องต้น ปตท.ได้จัดทำรูปแบบ(โมเดล)ธุรกิจLNG มานำเสนอต่อ กกพ. ตามขั้นตอนแล้ว แต่ยังจะต้องหารือให้ชัดเจนว่า การจะเป็น LNG HUB  นั้น ปตท.จะใช้รูปแบบธุรกิจในโครงการ ERC Sandbox หรือ มีรูปแบบธุรกิจอื่นๆ ด้วย เพราะจะมีผลต่อการจัดทำระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่จะออกมารองรับการเทรดดิ้งLNG ไปยังต่างประเทศในอนาคตด้วย

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม กกพ.สนับสนุนแนวทางที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น  LNG HUB แต่ในทางปฏิบัติควรจะต้องเกิดความชัดเจนด้านโครงสร้างราคาก๊าซฯของประเทศก่อน เพราะยังมีการนำเข้า LNG จาก ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและนำเข้าก๊าซ LNG หรือ ผู้ใช้บริการ (Shipper) จากเอกชนรายอื่นๆด้วย ดังนั้น จะมีสูตรคำนวนราคาก๊าซฯอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารวมของประเทศ

นอกจากนี้ กกพ.เตรียมรายงาน กพช.ถึงความคืบหน้าแผนการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในรูปแบบตลาดจร(spot) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จำนวน 2 ลำ (ลำละ 6.5 หมื่นตัน) คาดว่า จะเริ่มนำเข้าลำแรกมาป้อนโรงไฟฟ้าในกลางเดือน ธ.ค.2562นี้ เพื่อทดสอบระบบโครงสร้างพื้นฐานตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท.(Third Party Access :TPA)

Advertisment