กกพ.คาดเริ่มทยอยคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 31 มี.ค.นี้เป็นต้นไป

- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นัดแถลงข่าวคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ตามมติครม. วันที่ 19 มี.ค.นี้ คาดเริ่มทยอยคืนได้ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2563 นี้เป็นต้นไป ในขณะที่ยังมีหลายประเด็นที่ประชาชนยังมีความกังวลในแนวทางปฏิบัติที่ต้องให้เดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเกิดการแออัด มีความเสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 พร้อมเสนอวิธีคืนเงินด้วยระบบออนไลน์  ด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจงเหตุผลที่ต้องเรียกเก็บค่าประกัน เพื่อป้องกันการเบี้ยวชำระค่าไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า เว็บไซต์คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) www.erc.or.th   ได้แจ้งถึงความคืบหน้าในแนวทางการปฎิบัติในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า  ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่10 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา โดย กกพ.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง และจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน  ในวันที่ 19 มี.ค.2563 เวลา10.00น.  จากนั้นจะมีการแจ้งรายละเอียดทั้งหมดให้ทราบในวันที่ 25 มี.ค. และเริ่มทะยอยคืนเงินตั้งแต่ 31 มี.ค.2563 เป็นต้นไป

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงานกกพ.) กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นไป ผู้ขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่จะไม่ต้องจ่ายค่าประกันไฟฟ้าแล้ว จากเดิมต้องจ่ายประมาณ 300-3,000 บาทต่อราย โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวในสัญญาการขอใช้ไฟฟ้าแล้ว โดยจะจ่ายเพียงค่าตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านประมาณ 700 บาทเท่านั้น

- Advertisment -

ในขณะที่ข่าวจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2563 ระบุถึงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 ที่เห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องพิจารณาคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก เพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยขึ้นอยู่กับแต่ละรายตามจำนวนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้กับ PEA เมื่อมาขอใช้ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ PEA อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนการจ่ายคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความพร้อมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าให้มากที่สุด โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการให้ทราบต่อไป

ข่าวจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังระบุเหตุผลที่ต้องมีการเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ด้วยว่า เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีการติดตั้งมิเตอร์และบริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ใช้ไฟฟ้าก่อนแล้วจึงมีการเรียกเก็บเงินในภายหลัง ดังนั้นการเรียกเก็บเงินประกันจึงเป็นการป้องกันความเสี่ยงของภาครัฐในการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้การดำเนินการตามมติครม. ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.บ้านพักขนาดเล็ก ที่ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 แอมป์ มีการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 300 บาท ,2.บ้านเรือนส่วนใหญ่ ใช้มิเตอร์ขนาด15 แอมป์ วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 2,000 บาท, 3.บ้านพักขนาดใหญ่ ใช้มิเตอร์ 30 แอมป์ วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 4,000 บาท และ4.ประชาชนส่วนน้อยที่ใช้มิเตอร์ 15 แอมป์ ซึ่งมี 3 เฟส วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 6,000 บาท

อย่างไรก็ตาม เพจของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้แจ้งรายละเอียดของขั้นตอนเบื้องต้นในการขอรับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า โดยตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2563 เป็นต้นไปให้ผู้ยื่นเรื่องที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้เดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง ส่วนผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดให้เดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งหากข้อมูลการลงทะเบียนถูกต้องและตรงกันกับข้อมูลที่การไฟฟ้ามีอยู่ ก็จะได้รับเงินคืนตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะจ่ายครบจำนวนทั้งหมด 21.5 ล้านราย วงเงิน 30,000 ล้านบาท พร้อมระบุด้วยว่าทางการไฟฟ้าได้เตรียมวางระบบการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นของการไฟฟ้าด้วยเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า โดยให้ผู้ยื่นเรื่องเดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานการไฟฟ้านั้น  สร้างความกังวลให้กับประชาชนที่มีสิทธิ์ได้รับการคืนเงิน หากต้องเดินทางไปในพื้นที่จำกัดในวันและเวลาเดียวกัน ที่จะอาจเกิดความแออัดและเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้  โดยเสนอให้หน่วยงานการไฟฟ้าควรจะมีการคืนเงินผ่านระบบออนไลน์ ไปตามชื่อบัญชีของผู้มีสิทธิ์ที่ลงทะเบียนยืนยันตรงกันกับข้อมูลของการไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือใช้วิธีทยอยหักลบกับค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในเดือนนั้นๆไปเลยเป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับ กรณีที่เจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าบางรายซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ แต่เสียชีวิตไปแล้ว และคนที่อยู่อาศัยในบ้านเป็นผู้เสียค่าไฟ จะได้รับการคืนเงินหรือไม่ และจะคืนให้ใคร หรือกรณีที่ซื้อบ้านมือสองมา มิเตอร์ไฟฟ้ายังเป็นชื่อเจ้าของเดิม  แต่ในทะเบียนบ้าน เจ้าบ้านเป็นชื่อของเจ้าของใหม่ และชำระค่าไฟฟ้าทุกเดือน ใครจะเป็นผู้ได้รับคืนเงินตามมติครม.

Advertisment