เยอรมนีสนับสนุนไทยพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคขนส่ง

259
(จากซ้าย) นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย; นางชุตินธร มั่นคง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน; นางสาว กฤติกา บูรณะดิษ ผู้อำนวยการสำนักแผนความปลอดภัย; แดเนียล บองการ์ด ผู้อำนวยงานโครงการ TRANSfer III; นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม; นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย; นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร; นายโรจน์ ไตรวิทยาศิลป ผู้อำนวยการส่วนระบบขนส่งทางบกและทางน้ำ สำนักงานระบบขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร; นายวิโรจน์ แหวนทองคำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ; นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
- Advertisment-

ประเทศเยอรมนีจับมือประเทศไทยให้การสนับสนุนการพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคการขนส่ง (TRANSfer III–Facilitating the Development of Ambitious Mitigation Actions) เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยมีการขนส่งที่สะอาดและยั่งยืน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาปิดโครงการสนับสนุนการพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคการขนส่ง (TRANSfer III–Facilitating the Development of Ambitious Mitigation Actions) เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จของความร่วมมือในการส่งเสริมการขนส่งที่สะอาดและยั่งยืนของประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2565 ณ ห้องบอลรูม 2 ชั้น 4 โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพมหานคร โดยมี Mr. Georg Schmidt เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย Mr. Daniel Bongardt ผู้อำนวยการโครงการ TRANSfer, GIZ ผู้แทนกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพอากาศของรัฐบาลกลางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทำหน้าที่กล่าวรายงานและเข้าร่วมการเสวนา ในหัวข้อ “การดำเนินการในภาคการขนส่งเพื่อมุ่งสู่การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” พร้อมด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมการสัมมนาปิดโครงการฯ ดังกล่าว จำนวนประมาณ 100 คน

นายชยธรรม์ฯ กล่าวว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และการปรับปรุงการใช้รถโดยสารประจำทาง โดยการเปลี่ยนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDC) ภายในปี 2030 และหากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจะสามารถยกระดับเป้าหมาย NDC ขึ้นเป็นร้อยละ 40 และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในหรือก่อนหน้า ปี 2065 ตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ได้”

- Advertisment -

Mr. Georg Schmidt กล่าวเพิ่มเติมว่า “ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นแรงผลักดันไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง และเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนี ในโอกาสครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมัน แม้ว่าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่งเริ่มเติบโตในระดับโลกและในประเทศไทย รัฐบาลควรจะพิจารณาให้การสนับสนุนการลงทุน และสร้างรูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยความร่วมมือจากนานาชาติ และการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

นายปัญญาฯ กล่าวตอนท้ายว่า “ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สนข. และ GIZ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันในการศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาการขนส่งที่มีความท้าทาย เช่น การจราจรติดขัด และการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และถึงแม้ว่าการดำเนินโครงการ TRANSfer กำลังจะสิ้นสุดลง แต่ สนข. จะยังมุ่งมั่นที่จะสานต่อการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ของโครงการ TRANSfer ต่อไป เช่น การศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่การจราจรหนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานคร และแนวทางการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเพื่ออากาศสะอาดเพื่อปรับปรุงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และการที่ สนข. ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือกับโครงการ TRANSfer นั้น เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการขนส่งที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงร่วมมือกับ GIZ ต่อไปในโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการเสนอมาตรการและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของยานยนต์และส่งสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ และการปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาคมนาคมขนส่ง เป็นต้น”

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นของโครงการ พบว่า หากมีการดำเนินมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนจะสามารถช่วยลดปริมาณการจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศ เพิ่มความเร็วในการเดินทางและจำนวนผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ จากการวิเคราะห์ทางการเงินพบว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ต่ำกว่ารถโดยสารประจำทางที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงถึงร้อยละ 23 เนื่องมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่ต่างกันถึง 3 เท่า และหากมีการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า 3,200 คันได้ ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 184,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทางยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ความท้าทายของการนำผลลัพธ์จากการดำเนินงานหัวข้อต่าง ๆ ของโครงการไปสู่การปฏิบัติจริงและมีการเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมในอนาคตของมาตรการด้านการขนส่งที่ยั่งยืน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนข. และ GIZ เชื่อว่าการสัมมนาปิดโครงการ TRANSfer นี้จะช่วยเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการดำเนินการในภาคการขนส่งเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และถึงแม้โครงการกำลังจะสิ้นสุดลง แต่ผลลัพธ์ของโครงการจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

Advertisment