รัฐส่งสัญญาณประชาชนเตรียมรับมือค่าไฟฟ้าแพงตลอดปี 65

951
N2032
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเริ่มส่งสัญญาณเตือนประชาชนรับมือค่าไฟฟ้าแพงในปี 2565 เนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกพร้อมใจกันขยับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปี 2564 นี้ ที่เห็นได้ชัดเจนคือราคาน้ำมันดิบโลกเบรนท์พุ่งขึ้นมาอยู่ระดับ 82.74 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 5 พ.ย. 2565) ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ในตลาดจร (LNG Spot) ที่ผ่านมา ต.ค. 2564 ขยับไปกว่า 18 เหรียญฯต่อล้านบีทียู

ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอาศัยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าประมาณกว่า60% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ดังนั้นเมื่อทั้งLNGนำเข้ามีราคาขยับสูงและก๊าซในประเทศจากอ่าวไทยมีสูตรราคาที่ขยับขึ้นตามราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12เดือน ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะต้องสูงขึ้น และการช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าตลอดปี 65 อาจจะเป็นแนวทางหลักในการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยลบอื่นๆนอกเหนือจากราคาก๊าซที่ขยับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟฟ้าในส่วนเอฟทีช่วง เดือน ม.ค.-เม.ย.65 ปรับตัวสูงขึ้น
โดยการคำนวณค่าเอฟทีที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)​ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเลื่อนการแถลงข่าวที่กำหนดเอาไว้ในวันที่ 8 พ.ย.64 นี้ออกไปก่อน

- Advertisment -

แหล่งข่าวกล่าวว่า หาก กกพ.ไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 นี้ ก็มีการประเมินว่าต้นทุนค่าเอฟที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนจริงอาจมากกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ในค่าไฟฟ้าเอฟที งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 ยังมีแรงกดดันจากการที่ต้องนำเข้าLNG ราคาแพงเพิ่มมากขึ้นเพื่อมาทดแทนก๊าซต้นทุนถูกจากแหล่งเอราวัณที่จะผลิตได้ไม่ต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน เม.ย.65 โดย กกพ.ยังรอการยืนยันปริมาณก๊าซในประเทศที่จะลดลงจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่น่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News​ Center-ENC)​ รายงานว่า เงินที่ใช้ในการบริหารจัดการไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เหลืออยู่เพียง 4,000 ล้านบาท จะไม่เพียงพอต่อการดูแลราคาค่าไฟฟ้าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ได้ทั้งหมด หากต้นทุนค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะตรึงราคาค่าไฟฟ้า เช่นเดียวกับการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณจากส่วนอื่นเข้ามาช่วย หรือให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.)​ช่วยแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปก่อนเป็นการชั่วคราว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานข่าวว่า กกพ.อยู่ระหว่างการหารือเพื่อดูแลค่าไฟฟ้าประชาชนในช่วงที่ราคาพลังงานแพงมาก โดยเฉพาะเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ที่จะถึงนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องนำเงินที่เหลือทั้งหมด 4,000 ล้านบาทมาพยุงค่าไฟฟ้า แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก ดังนั้นแนวทางต่อไปคือ การเกลี่ยค่าไฟฟ้าไปตลอดปี 2565 โดยพิจารณาว่าหากราคาก๊าซฯที่สูงขึ้นเป็นเพียงระยะสั้นที่เกิดจากความต้องการใช้ในฤดูหนาวเท่านั้น ก็อาจเกลี่ยค่าไฟฟ้าไปเฉลี่ยไว้ในเดือนต่อๆ ไปแทนได้ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ปรับขึ้นแต่ไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตามการเกลี่ยราคาดังกล่าว ต้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าช่วยแบกรับภาระดังกล่าวด้วย แต่หากภาครัฐมีเงินงบประมาณอื่นเข้ามาช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้จะถือเป็นการช่วยโดยตรงและได้ผลมากที่สุด

นอกจากนี้ กกพ.จะต้องหันมาพิจารณาลำดับการอนุญาตให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำสุดเข้าระบบก่อน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และถ่านหินก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กับเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

สำหรับกรณีการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าเช่นกัน แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนคิดเป็น 10% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด และเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนอยู่ประมาณ 30 สตางค์ต่อหน่วย หากในอนาคตภาครัฐจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 20-30% ก็คาดว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะเพิ่มรวมเป็นแค่ 45 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากในอนาคตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนจะดีขึ้นและราคาก็จะถูกลงด้วย

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าแม้ต้นทุนพลังงานทดแทนจะสูงและกระทบราคาค่าไฟฟ้าประชาชน แต่ไทยก็หลีกเลี่ยงการใช้พลังงานทดแทนไม่ได้ เนื่องจากเป็นทิศทางพลังงานของโลก ที่จะต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการป้องกันการกีดกันทางการค้าในอนาคตด้วย

ปัจจัยลบทั้งหมดที่กระทบต่อค่าไฟฟ้าในปี 65 ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ว่าจะมีมาตรการรับมืออย่างไร ยกเว้นการส่งสัญญาณเตือนประชาชนให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้าLNG ราคาแพง
เช่นเดียวกับ กกพ.ที่ส่งสัญญาณเตือนประชาชนให้พร้อมรับมือค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นในต้นปี 2565 นี้ โดยให้หันกลับมาพิจารณาการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีเหตุผลมากขึ้น เพื่อช่วยกันประหยัดไฟฟ้า รวมถึงการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานและประหยัดพลังงาน เป็นหลัก ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลระทบจากราคาค่าไฟฟ้าที่แพงได้ส่วนหนึ่ง

Advertisment