พลังงาน ใกล้คลอดร่างกฎหมายสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ 90 วัน

219
Cr. ภาพประกอบ คลังน้ำมัน IRPC อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
- Advertisment-

พลังงาน ใกล้คลอด “ร่างกฎหมายสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR)” ชี้สำรองน้ำมัน 90 วัน จากปัจจุบันสำรองอยู่ 25 วัน หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและใช้ยามวิกฤติ เผยโมเดลอาจให้รัฐลงทุนเอง หรือ รัฐลงทุนร่วมกับต่างประเทศ ขึ้นกับความเหมาะสมกับประเทศไทยเป็นหลัก คาดหน่วยงานรับผิดชอบอาจเป็นกรมธุรกิจพลังงาน หรือ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานความคืบหน้ามาตรการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve)  หรือ SPR ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมาย SPR ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ โดยเบื้องต้นจะกำหนดให้มีสำรองน้ำมัน SPR ไว้ 90 วัน จากปัจจุบันไทยมีสำรองน้ำมันอยู่ 25 วัน ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยเบื้องต้นกระทรวงพลังงานได้จัดทำรูปแบบธุรกิจ (โมเดล) SPR ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้ว ทั้งนี้จะมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลการสำรองน้ำมัน SPR นั้น จะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในกฎหมายเป็นหลัก โดยหาก SPR จัดทำขึ้นเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะเข้ามาเป็นผู้ดูแล แต่หากเป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ทางกรมธุรกิจพลังงานก็จะเข้ามาดูแล

- Advertisment -

สำหรับรูปแบบการสำรองน้ำมัน SPR นั้น ในเบื้องต้นมีทั้งแบบภาครัฐเป็นผู้ลงทุนเอง หรือ จะเป็นแบบรัฐร่วมลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งต้องพิจารณารูปแบบการสำรองน้ำมันให้เหมาะสมกับประเทศไทย รวมทั้งต้องศึกษาถึงปริมาณเก็บสำรองน้ำมันที่เหมาะสม สถานที่เก็บ และการบริหารจัดการ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ประเทศไทยมีข้อกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 6% ของปริมาณการจำหน่าย และให้สำรองน้ำมันสำเร็จรูป 1% ของปริมาณการจำหน่าย โดยรวมไทยจึงมีการสำรองน้ำมัน 7% ของปริมาณการจำหน่าย หรือ มีการสำรองน้ำมัน 25 วัน 

ทั้งนี้เมื่อย้อนความเป็นมาของนโยบายสำรองน้ำมัน SPR นั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพลังงานศึกษาการสำรองน้ำมัน SPR โดยอ้างอิงกลุ่มประเทศสมาชิกสำนักงานพลังงานสากล (IEA) 28 ประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ที่กำหนดสัดส่วนการสำรองน้ำมันไม่น้อยกว่า 90 วันของการนำเข้าสุทธิ โดยจัดเก็บน้ำมันสำรอง 2 รูปแบบ คือ สำรองโดยภาครัฐและสำรองโดยภาคเอกชน โดยขณะนั้นไทยก็มีเป้าหมายในการสำรองน้ำมันที่เทียบเคียงกับประเทศสมาชิก IEA เช่นกัน คือ สำรองน้ำมัน 90 วัน แยกเป็นการสำรองโดยภาคเอกชน 43 วัน หรือเท่ากับ 28 ล้านบาร์เรล และสำรองภาครัฐ 47 วัน หรือเท่ากับ 30.5 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้มีแนวทางจะจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาบริหารคลังน้ำมันโดยจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยขณะนั้นศึกษาไว้ 4 แนวทาง คือ สมาคม องค์การมหาชน บริษัทจำกัด และมูลนิธิ และในส่วนของการเก็บน้ำมันมี 3 ทางเลือก คือ การสร้างคลังใหม่บนบก การสำรองน้ำมันในทะเล และการสำรองในอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งไม่ว่าจะเลือกการเก็บน้ำมันแบบใดจะต้องเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับโรงกลั่นน้ำมัน เช่น ระยอง ศรีราชา และตั้งอยู่ในจุดที่สามารถขนถ่ายน้ำมันได้สะดวก

ต่อมาในปี 2562 กระทรวงพลังงานในสมัย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในขณะนั้น ได้มีนโยบายให้กรมธุรกิจพลังงานศึกษาการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ โดยผลการศึกษาได้มีข้อเสนอให้ประเทศไทยควรมีสำรองน้ำมันภาครัฐในรูปแบบสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ประมาณ 50 วัน และให้ปรับสำรองของภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยสำรองน้ำมัน 50 วันดังกล่าว เป็นปริมาณที่ต่างประเทศส่วนใหญ่กำหนดใช้สำรองน้ำมัน SPR กันอยู่แล้ว

และปัจจุบันการบริหารงานภายใต้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีแนวคิดที่จะให้สำรองน้ำมัน SPR จำนวน 90 วัน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและใช้ในยามวิกฤติ

Advertisment