ผ่าน 1 ปีกว่าแผนลดชดเชยราคาน้ำมันชีวภาพตามมติ กพช.ไม่คืบหน้า

758
- Advertisment-

ผ่านมามากกว่า 1 ปี กระทรวงพลังงานยังไม่สามารถเริ่มต้นลดการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง แก๊ส​โซฮอล์E85 และไบโอดีเซลB20 ได้ตามแผน ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีเงินไหลออกกว่า 1,700 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่ สกนช.เตรียมแผนกู้เสริมสภาพคล่องอีก 20,000 ล้าน โดยผู้ใช้น้ำมันเบนซิน และดีเซลB7 เป็นผู้แบกรับภาระจ่ายแทนทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center- ENC )​ รายงานว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)​ ที่มีพลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่การประชุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563 แล้ว โดยแนวทางการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 ที่ทาง สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. เป็นผู้จัดทำแผน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ถูกรวมไว้ ในยุทธศาสตร์ที่ 2 โดยมีสาระสำคัญ ที่ให้การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งหมายถึง น้ำมันเบนซินที่มีการผสมเอทานอล และน้ำมันดีเซลที่มีการผสมไบโอดีเซล B100 ในสัดส่วนต่างๆ และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยต่อไป ก็ต้องให้คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของ กพช. มีอำนาจขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี

โดย สกนช. จะกำหนดอัตราเงินกองทุนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามนโยบายภาครัฐ โดยมีกรอบในการดำเนินงานคือ กำหนดอัตราเงินแต่ละชนิดให้เหมาะสม เป็นธรรม และไม่ใช้เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงข้ามกลุ่ม หลีกเลี่ยงการแทรกแซงที่มีผลกระทบต่อกลไกตลาดเสรี

- Advertisment -

ทั้งนี้ในมาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 ประกอบด้วย
(1) กลุ่มน้ำมันเบนซิน ให้ทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 และ E85 ลงร้อยละ 50 เทียบกับปีก่อน จนไม่มีการชดเชยหลังจากปีที่ 3 และหากจำเป็นต้องขยายกรอบระยะเวลา จะดำเนินการตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ และรักษาส่วนต่างราคาขายปลีกที่จูงใจให้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 โดยกำหนดอัตราเงินกองทุนที่เหมาะสม

และ (2) กลุ่มน้ำมันดีเซล ให้ทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยลงร้อยละ 50 เทียบกับปีก่อน จนไม่มีการชดเชยหลังจากปีที่ 3 และหากจำเป็นต้องขยายกรอบระยะเวลา จะดำเนินการตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ และรักษาส่วนต่างราคาขายปลีกที่จูงใจให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 โดยกำหนดอัตราเงินกองทุนที่เหมาะสมให้เป็นน้ำมันมาตรฐานทดแทนฺน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 เป็นทางเลือก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้ การทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยราคาให้แก่น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 และ E85 รวมทั้งน้ำมันดีเซล (B10)​ และดีเซลB20 ลงร้อยละ 50 ยังไม่มีความคืบหน้า โดยในส่วนของ น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 กองทุนน้ำมันยังต้องเข้าไปชดเชยราคาอยู่ที่ลิตรละ 2.28 บาท และ E85 ลิตรละ 7.13 บาท ส่วน ดีเซล (B10)​ กองทุนชดเชยอยู่ที่ลิตรละ 2.50 บาท และ ดีเซล B20 ชดเชยอยู่ที่ ลิตรละ 4.16 บาท ต่อลิตร

ทั้งนี้ รัฐยังคงขยายระยะเวลาการชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่ราคาเอทานอล และ B100 อยู่ในระดับสูง เพื่อทำให้ราคาขายปลีกที่หน้าปั๊มจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ ซึ่งค่อนข้างได้ผล

โดยกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการใช้น้ำมัน​แก๊ส​โซฮอล์​ E20 ช่วงเดือน ม.ค.- พ.ค.2564 อยู่ที่ 6.01 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ใช้อยู่ 5.94 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนน้ำมันดีเซล (B10)​ อยู่ที่ 23.57 ล้านลิตรต่อวันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ที่ยอดใช้อยู่ที่ 10.21 ล้านลิตรต่อวัน

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะให้มีการลดการชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์E85 และยกเลิกประเภทน้ำมันแก๊ส​โซฮอล์​91 เพื่อให้คนหันมาใช้ E20 และมีแผนจะประกาศให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานในเดือน ก.ค.2564 นั้นถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายปี 2565 แทน เนื่องจากกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันมากขึ้น รวมทั้งให้มั่นใจว่าจะมีการผลิตเอทานอลเพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มมากขึ้น

ความล่าช้าในการดำเนินการตามแผนลดการชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีเงินไหลออกและฐานะสุทธิของเงินกองทุนลดลงเรื่อยๆ เพราะมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการนำไปชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม ที่เพิ่งมีการขยายกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 18,000 ล้านบาท

โดยสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 27 มิ.ย. 2564 เหลือเงินสุทธิ 17,972 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 31,559 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 13,587 ล้านบาท

กองทุนฯ มีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการใช้น้ำมันเบนซิน ลิตรละ 6.58 บาท จากผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์91 และ 95 ลิตรละ 0.62 บาท จาก ผู้ใช้ดีเซลB7 ลิตรละ 1 บาท แต่มีภาระที่ต้องชดเชยราคา LPG และเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งE 20 E85 ดีเซล และ ดีเซลB20 ทำให้มีเงินไหลออกรวมประมาณเดือนละ 1,700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทุนฯ สามารถเหลือเงินใช้ไปได้อีกเพียงแค่ 1 ปี อย่างไรก็ตาม สกนช.ได้เตรียมแผนการกู้เงิน 20,000 ล้านบาทไว้ล่วงหน้าแล้ว

Advertisment