พพ. จับมือบางจาก และ ผู้ประกอบการรถบรรทุกขนาดใหญ่ นำร่องใช้ บี 20 โดยรัฐสนับสนุนวงเงินช่วยค่าน้ำมันไม่เกิน4บาทต่อลิตรวงเงินรวมไม่เกิน115 ล้านบาท เปิดรับสมัครรอบสอง16มิ.ย.-15 ส.ค.2559 นี้
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ โดยมีนายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ 3 ราย ร่วมลงนาม ซึ่งพิธีจัดขึ้นที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2015 มีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน ทั้งในรูปแบบไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ต่อการใช้พลังงานรวมของประเทศภายในปี 2579 โดยสำหรับไบโอดีเซลมีเป้าหมายการใช้ 14 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งได้มอบหมายให้ พพ.ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานให้บรรลุเป้าหมาย
ด้าน นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า เพื่อให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพไบโอดีเซลให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผน AEDP 2015 พพ. จึงได้ขยายผลการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในรูปแบบต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม โดยได้จัดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นต่อการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 และสร้างความต้องการผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการขนส่งที่ใช้รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯรอบแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน – 31 พฤษภาคม2559 ซึ่งมีผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการรวม 3 ราย ส่วนรอบที่สองจะเปิดรับสมัครช่วงวันที่16 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2559 โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนค่าน้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในอัตราร้อยละ 11.66 แต่ไม่เกิน 4 บาทต่อลิตร วงเงินรวมทั้งโครงการไม่เกิน 115 ล้านบาท
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท บางจากฯ พร้อมตอบสนองนโยบายของรัฐ โดยในปี 2547 บริษัท บางจากฯ ได้ร่วมกับ พพ. ริเริ่มโครงการทดลองการจำหน่ายไบโอดีเซล B2 ผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจากเป็นรายแรก และในปีนี้ บริษัท บางจากฯ ได้ร่วมกับ พพ. ในโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง สร้างนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ไบโอดีเซล บี 20 ในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง และขยายสู่วงกว้างในอนาคต และเป็นการตอบโจทย์ของการแก้ไขปัญหาไบโอดีเซลที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2579
สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เทพสมบัติ จำกัด และบริษัท โอพีจี เทค จำกัด
ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 4.5 ล้านไร่ ได้ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อบริโภคเป็นน้ำมันพืชอยู่ที่ปีละ 1 ล้านตัน ส่วนที่เหลือสามารถผลิตเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล สามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเชื้อเพลิง สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงาน สร้างงานสร้างรายได้
อนึ่ง กระทรวงพลังงานส่งเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซลมาตั้งแต่ปี 2548 จนกระทั่งประกาศบังคับใช้น้ำมันดีเซลที่มีสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลร้อยละ 7 หรือ บี7 ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 จนถึงในไตรมาสแรกของปี 2559 มียอดการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ 4.2 ล้านลิตรต่อวัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการส่งเสริมไบโอดีเซล ในช่วงที่ผ่านมา คือความไม่แน่นอนของผลผลิตน้ำมันปาล์ม ที่บางช่วงก็ขาดแคลนในขณะที่บางช่วงก็มีผลผลิตออกมาล้นตลาด ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ ก็เตรียมประสานงานกับกระทรวงพลังงานให้พิจารณาปรับลดปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในส่วนผสมของดีเซล จากบี7 เหลือบี5 ตั้งแต่เดือนก.ค.2559 นี้ เนื่องจากผลผลิตปาล์มมีออกมาสู่ตลาดไม่มาก จากผลของภัยแล้ง ดังนั้น การส่งเสริมการใช้น้ำมันบี20 ให้บรรลุเป้าหมาย ก็จะต้องมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน หรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ด้วยจึงจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มในภายหลัง
กรมธุรกิจพลังงาน เตรียมประกาศใช้ไบโอดีเซล B7 เร็วๆนี้ หลังกระทรวงพาณิชย์ส่งข้อมูล stock น้ำมันปาล์มล้นตลาด โดยการ เพิ่มสัดส่วนจาก B5ในปัจจุบัน เป็น B7 จะช่วยดูดซับปาล์มได้ 2 หมื่นตันต่อเดือน แต่ยืนยันไม่กระทบราคาขายปลีกดีเซล
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า กรมฯเตรียมประกาศเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลจาก B5 (การผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 5% ในน้ำมันดีเซลทุกลิตร) มาเป็น B7 (การผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในน้ำมันดีเซลทุกลิตร) ในเร็วๆนี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ส่งตัวเลขปริมาณสำรอง(stock)น้ำมันปาล์มของประเทศมาให้กรมฯช่วงสัปดาห์หน้า นี้
โดยในเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้น้ำมันปาล์มเริ่มล้นตลาด มีปริมาณstock สูงเกินกว่า 2.5 หมื่นตัน ประกอบกับราคาผลผลิตปาล์มตกต่ำเหลือ 4.30-4.50 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมราคาอยู่ที่ 6-7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเข้าเงื่อนไขที่กระทรวงพลังงานจะนำน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้
สำหรับการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลเป็น B7 นั้น คาดว่าจะช่วยดูดซับปริมาณน้ำม้นปาล์มในระบบได้ 2 หมื่นตันต่อเดือน แต่จะไม่กระทบต่อภาคการบริโภคของประชาชน และจะไม่กระทบต่อราคาจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนราคาปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ ไบโอดีเซล B100 มีราคาถูก เมื่อนำมาผสมในน้ำมันดีเซลจึงไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่ายแต่อย่างใด
"สัปดาห์หน้ากระทรวงพาณิชย์จะส่งตัวเลขปริมาณStock น้ำมันปาล์มของประเทศมาให้กรมฯ เพื่อดูว่าน้ำมันปาล์มล้นตลาดอยู่เท่าไหร่ จากนั้นกรมฯจะออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจาก B5 เป็น B7 ทันที และจะมีผลในทางปฏิบัติหลังจากออกประกาศแล้ว 15 วัน" นายวิฑูรย์ กล่าว
กรมธุรกิจพลังงาน แจงยังไม่สามารถประกาศใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในกลุ่มรถยนต์ได้โดยเร็ว ตามข้อเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นตลาด ชี้ต้องรอผลศึกษาของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA) ที่จะออกปลายปีนี้ ก่อนประกาศรับรองการใช้ ส่วนมาตรการส่งเสริมการใช้ B20 ในกลุ่มรถบรรทุกในราคาต่ำกว่าไบโอดีเซล B7 นั้น ต้องให้ กบง. อนุมัติก่อน
นางอุษา ผ่องลักษณา รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กรมธุรกิจพลังงานยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่สามารถประกาศใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์10% ในทุกลิตร) ตามที่สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยเรียกร้องให้ดำเนินการโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด โดยปัจจุบันยังคงต้องใช้ไบโอดีเซล B7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7%ในทุกลิตร) ต่อไปก่อน จนกว่าผลการศึกษาการใช้น้ำมัน B10 ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น(JAMA) จะออกมาประมาณปลายปี 2561 นี้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบผู้ใช้รถยนต์และมีผู้รับรองการใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการทดลองน้ำมันดีเซล B10 ในรถไฟ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี โดยจะสามารถพัฒนาและขยายผลต่อไปได้ในอนาคต
ทั้งนี้ คาดว่าน้ำมันปาล์มดิบจะมีสต็อกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 590,000 ตัน ในปี 2561 นี้ โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยดูดซับผลผลิตส่วนเกิน โดยนอกจากเพิ่มอัตราส่วนผสมจาก B5 เป็น B7 แล้ว ยังขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบและ B100 (น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100%) รวมถึงผู้ผลิตไบโอดีเซลให้ความร่วมมือเพิ่มกำลังการผลิต B100 มากขึ้น
นอกจากนั้น กรมฯ เตรียมหารือผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 และผู้ประกอบการรถขนส่ง เพื่อให้เข้าร่วมโครงการนำร่องทดลองใช้ B20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ในทุกลิตร) หรือ “โครงการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลB20 ให้กับรถเฉพาะกลุ่ม” โดยมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มรถบรรทุกขนส่งสินค้าเป็นหลัก และกำหนดให้ราคา B20 ถูกกว่าน้ำมันไบโอดีเซลB7 เพื่อเป็นแรงจูงใจในการใช้มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมามีการทดลองใช้ B20 ในกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกแล้วและพบว่าใช้ได้ไม่มีปัญหา แต่ที่ยังไม่ใช้กันแพร่หลาย เป็นเพราะเรื่องราคาและการสนับสนุนของภาครัฐ
ด้าน นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า สมาคมรถบรรทุกเสนอให้ราคาจำหน่าย B20 ถูกกว่า B7 ประมาณ 2.50-3 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันราคา B7 อยู่ที่ 30.49 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยสนับสนุนให้ราคา B20 ถูกกว่า B7 โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเป็นผู้พิจารณา และอาจจะต้องให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติก่อน ซึ่งหาก กบง. อนุมัติ ก็คาดว่าจะเปิดจำหน่าย B20 ได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2561 นี้ โดยจะจำหน่ายที่บริเวณจุดพักรถของกลุ่มรถบรรทุกต่างๆ เท่านั้น ไม่นำมาจำหน่ายในปั๊มน้ำมัน เพื่อป้องกันการสับสนของผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป
ทั้งนี้ คาดว่าหากมีการใช้ B20 ประมาณ 10% ของกลุ่มรถบรรทุกและเครื่องจักรการเกษตร จะช่วยเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% (B100) ได้ 5.18 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันใช้อยู่ 4.4 ล้านลิตรต่อวัน หรือช่วยให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มดิบ(CPO) 1.6 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันใช้อยู่ 1.2-1.3 ล้านตันต่อปี สำหรับรถบรรทุกปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8.33 แสนคัน ส่วนรถและเครื่องจักรการเกษตรปัจจุบันมี 6.4 แสนคัน
รัฐมนตรีพลังงานสั่ง พพ. ศึกษาความเป็นไปได้ในการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B10 หรือสูงกว่า B10 ควบคู่ไบโอดีเซล B7 พร้อมขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเก็บสต๊อกน้ำมันปาล์มต่อไปอีก 1 เดือน หวังพยุงราคาปาล์มรองรับผลผลิตฤดูกาลใหม่ โดยอาจต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันมาสนับสนุนด้านราคาไบโอดีเซลเกรดพิเศษ
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2561 ได้เห็นชอบให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ไปศึกษาการผลิตและใช้ไบโอดีเซลเกรดพิเศษขึ้น เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่จำหน่ายไบโอดีเซล B7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร)
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมาก อีกทั้งผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถช่วยเก็บสำรองน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ได้เพิ่มขึ้นอีก หากผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกมา เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันได้เก็บสต็อก B100 เต็มความจุของถังแล้ว ตั้งแต่ที่ภาครัฐขอความร่วมมือไปเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา รวมช่วยลดปริมาณน้ำมันปาล์มในระบบได้ 1-1.2 แสนตัน ดังนั้น จึงต้องมาส่งเสริมภาคการใช้ให้มากขึ้น
โดยการจำหน่ายไบโอดีเซลเกรดพิเศษดังกล่าว อาจจะเป็นไบโอดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มากกว่า 10% ในทุกลิตร) หรือสูงกว่า B10 โดยภาครัฐจะใช้มาตรการด้านราคาเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ ซึ่งถ้าผู้ผลิตน้ำมันพร้อมผลิตออกมาจำหน่ายและผู้บริโภคต้องการใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องรอความพร้อมของค่ายรถยนต์แต่อย่างใด
นายศิริ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของมาตรการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้เก็บ B100 เต็มความจุของถัง และกำลังจะสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวสิ้นเดือน มี.ค. 2561 นี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้รักษาระดับสต็อก B100 เต็มความจุถังต่อไปอีก 1 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคาและปริมานปาล์มที่กำลังออกสู่ตลาดในฤดูกาลใหม่ต่อไป
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า กรม พพ. อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ค่ายรถยนต์ ผู้ผลิตเอทานอล ผู้ค้าน้ำมัน รวมถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เพื่อดำเนินมาตรการออกผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลชนิดพิเศษจำหน่ายในปั๊มน้ำมันทั่วไป ตามมติของ กบง. เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2561 ที่กำหนดให้ พพ. ศึกษาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลมากกว่า B10 โดย พพ.จะเร่งดำเนินการศึกษาให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะกำหนดให้จำหน่ายไบโอดีเซลชนิดพิเศษที่สูงกว่า B10 อย่างไร เนื่องจากต้องทดสอบค่ามาตรฐานหลายอย่าง เช่น ค่าโมโนกรีเซอไรส์ ความสอดคล้องกับมาตรฐานน้ำมันและมาตรฐานรถยูโร3 และยูโร4 รวมทั้งต้องทดสอบในรถยนต์เพื่อวิ่งจริง เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องให้ค่ายรถยนต์และผู้ผลิตไบโอดีเซลยอมรับได้ด้วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อเครื่องยนต์และเครื่องจักรในการผลิต แต่เห็นว่าไบโอดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์ม 20% ในทุกลิตร) เหมาะที่จะใช้กับรถบรรทุกมากกว่ารถยนต์ทั่วไป
ทั้งนี้ การจำหน่ายไบโอดีเซลที่มากกว่า B10 นั้น จำเป็นต้องนำเงินกองทุนน้ำมันมาช่วยสนับสนุนเพื่อให้ราคาถูกกว่าไบโอดีเซล B7 ที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน จึงจะจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษได้ โดยขณะนี้ ไบโอดีเซลB7 ราคาอยู่ที่ 27.29 บาทต่อลิตร
นายประพนธ์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ไบโอดีเซลเกรดพิเศษดังกล่าวมีราคาสูง เพราะหากเพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มในน้ำมันดีเซลมากขึ้น ต้นทุนจะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยปัจจุบันเนื้อน้ำมันดีเซลราคาอยู่ที่ 16 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) ที่ใช้ผสมในดีเซลอยู่ที่ 23 บาทต่อลิตร ซึ่งหากผลิตออกมาจำหน่ายในปั๊มจริง จะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันมาช่วยสนับสนุนให้ราคาต่ำกว่าไบโอดีเซล B7 ต่อไป
กรมธุรกิจพลังงานเตรียมหารือค่ายรถยนต์ ปรับเพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มในดีเซลสูงสุดจาก B7 เป็น B7(Plus) หวังเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มให้มากขึ้น พร้อมหารือในบอร์ดการรถไฟฯ 19 ต.ค.นี้ให้ ใช้ B10 สำหรับขบวนรถไฟเพิ่มขึ้นในเส้นทางเดินรถอื่นๆ ส่วนแนวทางที่จะให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถือบัตรสวัสดิการซื้อน้ำมันแก๊สโซฮอล์95ราคาถูกกว่าทั่วไป 3 บาทต่อลิตร นั้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้น ต.ค.นี้ พร้อมประกาศเชิญเปิดโครงการในเดือน ธ.ค.2561
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนสายพลังงาน เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2562 ว่า กรมธุรกิจพลังงานเตรียมหารือกับค่ายรถยนต์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมศึกษาปรับสัดส่วนน้ำมันไบโอดีเซลใหม่ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากเดิมกำหนดให้ผสมน้ำมันปาล์มในดีเซลได้สูงสุดไม่เกิน 7% ในน้ำมันทุกลิตร (ไบโอดีเซลB7) เป็น B7(Plus) จะขยายส่วนผสมเพิ่มเป็น B7.3-7.5% โดยขึ้นอยู่กับผลการศึกษาที่จะดำเนินการให้เสร็จในเร็วๆต่อไป เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศให้มากขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของการส่งเสริมการใช้ไบอีดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์ม 10% ในทุกลิตร)สำหรับการขนส่งทางรถไฟนั้น ในฐานะที่ตัวเขาเป็นประธานกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะหารือกับที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 19 ต.ค. 2561 เพื่อให้เพิ่มจำนวนเส้นทางเดินรถไฟที่จะใช้น้ำมันไบโอดีเซลB10 หลังจากเปิดทดลองใช้แล้วในเส้นทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง จำนวน 36,000 ลิตร ในระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.-ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา
ส่วนการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลB20(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์ม 20% ในทุกลิตร) ในรถบรรทุกและรถขนส่งสาธารณะนั้น จะมีการขยายการใช้เพิ่มขึ้น โดยบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ(ขสมก.)และบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เปิดตัวส่งเสริมให้เกิดการใช้ B20 ร่วมกันในวันที่ 26 ต.ค. 2561 นี้ หลังจากกระทรวงพลังงานได้เปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีราคาจำหน่ายในราคาถูกกว่าไบโอดีเซลทั่วไป 3 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันมีการใช้แล้ว 3 ล้านลิตรต่อเดือน
นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการช่วยเหลือกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างถือถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์95 ในราคาถูกกว่าทั่วไป 3 บาทต่อลิตรนั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานไปตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์ใช้น้ำมันราคาถูกดังกล่าว กับกรมขนส่งทางบกและกรมบัญชีกลาง แล้ว โดยจะต้องเป็น มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องและผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เท่านั้น คาดว่าจะสามารถตรวจสอบรายชื่อแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนต.ค. 2561 นี้ จากนั้นกระทรวงพลังงานจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนงบประมาณในโครงการดังกล่าวและประกาศเปิดโครงการอย่างเป็นทางการในเดือนธ.ค. 2561 ต่อไป