
สนพ.แจ้งเลื่อน การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ออกไปไม่มีกำหนด จากเดิมที่กำหนดวันประชุม 25ต.ค.2560 นี้ ทำให้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเสรี ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)นัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมจะเสนอเข้าสู่การพิจารณา ของ กพช. ต้องแต่งตัวรอต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center -ENC) รายงานว่า ทางผู้แทนของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนประจำกระทรวงพลังงาน ว่า การประชุม กพช.ที่มีการกำหนดไว้เดิมว่าจะประชุมในวันที่ 25ต.ค. 2560 นั้น ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยหากสนพ.ได้วันประชุมที่แน่นอน เมื่อไหร่ จะแจ้งให้สื่อมวลชน ทราบอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมกพช.ในครั้งที่จะถึงนี้ อยู่ในความสนใจของคนที่เกี่ยวข้อง ในระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะมีวาระการพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี เพื่อนำไปสู่การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในทางปฎิบัติต่อไป หลังจากที่เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2560 ทาง พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้เรียกประชุม กบง.นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ไปแล้ว โดยมีหลักการสำคัญ คือจะให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ในช่วงแรกไม่เกิน 300เมกะวัตต์ และจะเน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเสียก่อน เมื่อมีไฟฟ้าที่เหลือส่วนเกิน รัฐจึงจะพิจารณารับซื้อในอัตราที่ไม่แพงไปกว่าราคาขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในฝั่งของภาคเอกชนนั้นก็มีความตื่นตัวต่อโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ของภาครัฐค่อนข้างมาก โดยในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 เวลา 13.00-16.30 น. โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เพลินจิต ทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ก็จะมีงานเปิดตัวคู่มือแนวทางการพัฒนาและลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาครั้งแรกในประเทศไทย
โดยคู่มือดังกล่าว ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยอาศัยต้นแบบจากคู่มือพัฒนาพลังงานทดแทนของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN RE Guideline) และถูกจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ USAID และ GIZ โดยมีรายละเอียดต่างๆ อาทิ ต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งช่วยให้กระบวนการการทำสัญญาระหว่างสองฝ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และแบบจำลองวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Model) ซึ่งช่วยสนับสนุนในการประเมินและวิเคราะห์ผลตอบแทนของการดำเนินงาน ช่วยพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพ และเปิดตลาดใหม่ของพลังงานแสงอาทิตย์ได้ โดยในงานจะมีการมอบคู่มือผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและสมาคมอุตสาหกรรมแสงอาทิตย์ไทย ด้วย