7เกร็ดความรู้ ปตท.พาสื่อฯ ดูงาน Smart City เมืองเกรอโนเบิ้ล ฝรั่งเศส

- Advertisment-

7เกร็ดความรู้ ปตท.พาสื่อฯ ดูงาน Smart City เมืองเกรอโนเบิ้ล ฝรั่งเศส

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC ) ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะสื่อมวลชนและผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ซึ่งนำโดย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีวิศวกรรม   นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์  และนางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์  หรือ EECi@วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อดูงานเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่ เกรอโนเบิ้ล (ภาษาพูดออกเสียงว่า เกอน็อบ) ประเทศฝรั่งเศส โดยคณะผู้ร่วมศึกษาดูงานได้รับการต้อนรับและฟัง การบรรยายจากนายเอริค เพิล ผู้ว่าการเมืองเกรอโนเบิ้ล  ณ ศาลาว่าการ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปเยี่ยมชมและฟังการบรรยายที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา Technopole ของบริษัท Schneider Electric ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจัดการพลังงาน ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ที่มีสำนักงานอยู่กว่า 100 ประเทศทั่วโลกอยู่ในเมืองนี้

คณะศึกษาดูงาน ผู้บริหารระดับสูงของปตท.และสื่อมวลชนจากประเทศไทย

และวันรุ่งขึ้น คณะผู้ร่วมศึกษาดูงานได้ไปที่ GIANT Innovation Campus and Grenoble Alps Metropole  ซึ่งเป็นแหล่งรวมศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา หน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ร้านค้า และที่อยู่อาศัย อย่างครบวงจร  โดย  คำว่า GIANT  นั้นย่อมาจาก  Grenoble Innovation for Advanced New Technologies

- Advertisment -

วัตถุประสงค์สำคัญ ที่คณะผู้บริหารของปตท.พาคณะสื่อมวลชนมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ ก็เพราะ ปตท.มีแผนที่จะลงทุนทำสมาร์ทซิตี้ ในหลายพื้นที่ในไทย โดยเฉพาะพื้นที่หลักคือที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ  EECi@วังจันทร์วัลเลย์ ที่ตั้งเป้าที่จะให้พื้นที่กว่า 3,455 ไร่ที่มีอยู่ เป็นแหล่งรวมนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ในลักษณะเดียวกับ สมาร์ทซิตี้ของเมืองเกรอโนเบิ้ล ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ  โดยผู้สื่อข่าวสามารถที่จะสรุปความรู้สำคัญที่ได้จากการดูงานแยกย่อยออกได้ดังนี้

เอริค เพิล ผู้ว่าการเมืองเกรอโนเบิ้ล กล่าวต้อนรับและบรรยายภาพรวมSmart City

1.การพัฒนาเมืองเกรอโนเบิ้ลให้กลายเป็นเมืองอัจริยะ หรือ Smart City เริ่มต้นมาจากนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อปี 2013 ที่จัดตั้ง La French Tech ขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศและเกิดเป็นเมืองนำร่องในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือ เมืองเกรอโนเบิ้ล ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ Auvergne Rhone Alpes Region ที่ถือเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า22,000 แห่ง และการจ้างงานกว่า 500,000 ตำแหน่ง ผู้อยู่อาศัยได้แก่นักวิจัย 25,000 คนและนักเรียนนักศึกษา 62,000คน ส่งผลให้จีดีพีในพื้นที่นี้ เติบโตเป็นอันดับ2 ของฝรั่งเศส

ทัศนียภาพเมืองเกรอโนเบิ้ล

2.เมืองเกรอโนเบิ้ล ถูกยกระดับจากเมืองที่พัฒนาเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมหนัก ให้กลายเป็นเมืองที่ดึงดูด การลงทุนด้านการศึกษา และการค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม สาขาไมโครและนาโนเทคโนโลยี(MINATEC)  ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สุขภาพ –ชีวศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยมีการลงทุนวางแผนระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยรองรับ ภายใต้ความร่วมมือและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐส่วนกลางและภาครัฐท้องถิ่น  เทศบาลเมือง บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน จัดตั้งเป็น Grenoble Innovation for Advanced New Technologies (GIANT) Innovation Campus หรือเรียกสั้นๆว่าไจแอ้นท์ มีสัดส่วนการลงทุน5ภาคส่วน คือ รัฐ 19%  เทศบาลท้องถิ่น 24% หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานในสหภาพยุโรป (European Large Infrastructure) 19%   ศูนย์วิจัยCEA 5% และ หน่วยงานเอกชน 15%

ส่วนหนึ่งของการเดินทางอัจฉริยะ Smart Mobility

3.GIANT มีผลงานเด่นในเรื่องของพลังงานและระบบคมนาคมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่นรถไฟ รถราง จักรยาน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า  ซึ่งในอนาคตมีแผนจะพัฒนารถรางลอยฟ้า(Cable Car)  ที่จะช่วยรองรับจำนวนคนที่จะเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในอนาคต

ซีอีโอปตท.และคณะระหว่างการดูงานที่ GIANT

4.Smart City ของเกรอโนเบิ้ล เน้นความอัจฉริยะใน 4 ด้าน คือ1.อัจฉริยะด้านการเดินทางขนส่ง(Smart Mobility) โดยเน้นระบบการขนส่งมวลชนด้วยระบบรางที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดความแออัดของการจราจร ทั้งนี้ ฝรั่งเศสมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อยู่จำนวนมาก และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำ ดังนั้นการสนับสนุนการขนส่งด้วยไฟฟ้าจึงช่วยลดการใช้น้ำมันลงได้มาก 2.อัจฉริยะด้านพลังงาน (Smart Energy )โดยมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน มาใช้ในโรงงาน อาคารสำนักงาน สถานศึกษา ควบคู่กับระบบสายส่งขนาดเล็กอัจฉริยะ (Smart Micro Grid) ที่สามารถลดการใช้พลังงานในอาคาร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อีกทั้งยังมีการนำเอาระบบฐานข้อมูลการใช้พลังงาน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้คนเลือกได้ว่าจะใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ หรือพลังงานสะอาดที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนสูงกว่า   3.การบริหารจัดการเพื่อลดมลพิษทางอากาศ และ 4.การบริหารจัดการขยะและของเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแบบที่เรียกว่า“zero waste” โดยขยะที่เกิดขึ้นมีการคัดแยกอย่างเป็นระบบ ส่วนหนึ่งนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ และอีกส่วนหนึ่งนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

ศูนย์วิจัยและพัฒนาSchneider Technopole เมืองเกรอโนเบิ้ล

5.บริษัทชไนเดอร์ อิเลคทริก (Schneider Electric )ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจัดการพลังงานขนาดใหญ่ก่อตั้งเมื่อปี 1836 มีการลงทุนด้านการวิจัยสูงถึง5% ของรายได้ในปี2018 หรือประมาณ 1,300 ล้านยูโร จากรายได้ 26,000 ล้านยูโร  และมีการลงทุนศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเกรอโนเบิ้ล คือ  Schneider Technopole  ที่เน้นการวิจัยด้านพลังงานโดยเฉพาะ

ภาพจำลองEECi@วังจันทร์วัลเลย์

6.โครงการEECi@วังจันทร์วัลเลย์ ตั้งเป้าให้เป็น innovation platform แห่งแรกของเมืองไทย  ในลักษณะเดียวกับ GIANT  โดย ปตท.เป็น 1 ในกว่า 50 หน่วยงาน ที่พยายามผลักดันให้โครงการนี้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  ตั้งต้นจากการดึง บริษัทเครือ ปตท.และพันธมิตรให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ., บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี , บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด  หรือ พีทีทีโออาร์  ร่วมกับพันธมิตรของ ปตท. ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ภาพจำลองโครงการEECi@วังจันทร์วัลเลย์

7 ผู้บริหาร ปตท.หวังว่า EECi@วังจันทร์วัลเลย์ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง ด้วยการมี สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย ห้องทดลอง โรงงานต้นแบบ โรงงานสาธิต และศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ พร้อมสิทธิประโยชน์สำหรับเอกชนที่เข้ามาดำเนินการวิจัยและสรรสร้างนวัตกรรม รวมไปถึงมีการผ่อนปรนกฎหมาย ที่เอื้อต่อการทดสอบนวัตกรรมใหม่
ซึ่งสำหรับบริษัทหรือนิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EECi จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 13 ปี ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ สำหรับบุคคลธรรมดาเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 17% ของเงินได้ ถือว่าต่ำที่สุดในเอเชีย ส่วนนักลงทุน นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจะได้รับวีซ่าทำงาน 5 ปี (smart visa) ศูนย์บริการด้านการลงทุน การขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (one-stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนทั่วโลก

Advertisment