“ศิริ”ชี้ ราชกรุ๊ป สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2โรง 1,400 เมกะวัตต์ ไม่ต้องเข้ากพช.อีก

- Advertisment-

“ศิริ” ชี้ กบง.อนุมัติ ราชกรุ๊ป ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ทั้ง2โครงการรวม 1,400 เมกะวัตต์ ไม่ต้องเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบเป็นรายโครงการอีก เพราะขออนุมัติกรอบหลักการให้มีอำนาจดำเนินการ ตั้งแต่การประชุมกพช.เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาแล้ว  ในขณะที่แหล่งข่าวพลังงานระบุกรณีดังกล่าว หากมีผู้ร้องเรียนอาจจะมีปัญหาในการตีความตามกฏหมาย และผิดไปจากธรรมเนียมปฏิบัติของกระทรวงพลังงานที่เคยทำมา

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ถึงมติกบง.ที่ให้ ราชกรุ๊ป ( ชื่อเดิมคือบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.)เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ทั้งในส่วนที่ทดแทนโรงเดิมของไตรเอ็นเนอยี่ ขนาด 700 เมกะวัตต์ และโรงที่สร้างขึ้นใหม่ อีก 700 เมกะวัตต์ รวม 1,400 เมกะวัตต์  ว่า เรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องนำเสนอให้ กพช.พิจารณาให้ความเห็นชอบอีก  เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามมติ กพช. ที่อนุมัติไว้เมื่อครั้งที่ให้ความเห็นชอบต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ฉบับใหม่ หรือ  PDP2018 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า จากการตรวจสอบถึงมติ กพช. ในการประชุมวันที่ 24 ม.ค.2562 ที่มีการแถลงต่อสื่อมวลชนนั้น ระบุหลักการไว้ ให้ กบง. (คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน) พิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP2018 ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลา พื้นที่ ปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

- Advertisment -

ในขณะที่แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามธรรมเนียมปฎิบัติที่ผ่านมา กรณีโครงการขนาดใหญ่ที่ รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ทั้ง กฟผ.และปตท.จะมีข้อตกลงผูกพันในสัญญากับเอกชน จะต้องมีการนำเสนอขออนุมัติให้ กพช.และครม.ให้ความเห็นชอบเป็นรายโครงการ  ซึ่งมีการยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอด แต่ในกรณีที่ รัฐมนตรีพลังงาน ได้ขออนุมัติเป็นหลักการจาก กพช.  ให้ กบง.มีอำนาจในการตัดสินใจพิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP2018 ได้โดยไม่ต้องนำเสนอเรื่องกลับไปให้ กพช.พิจารณาอีกเป็นรายโครงการ  นั้นถือเป็นเรื่องใหม่  ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าสามารถทำได้หรือไม่

ทั้งนี้หาก กฟผ.ไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) กับ ราชกรุ๊ป ทั้ง2โครงการรวม 1,400 เมกะวัตต์ ตามมติ กบง. แล้วมีผู้ร้องเรียนขึ้นมา ก็อาจจะมีปัญหาในการตีความตามข้อกฏหมายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  สำหรับโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ทั้ง2โรง รวม 1,400 เมกะวัตต์ นั้น แบ่งเป็นโรงที่สร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ของบริษัทไตรเอ็นเนอยี่  ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่จะปลดระวางออกจากระบบในปี 2563 โดยตามแผนPDP2018 กำหนดให้จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2567  ส่วนโรงที่สอง เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ ขนาด 700 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันตก ซึ่งกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2568

โดยการที่ กบง. เห็นชอบ ให้ ราชกรุ๊ป ดำเนินการลงทุนก่อสร้าง ทั้ง2โรง โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันราคากับเอกชนรายอื่นในรูปแบบของการประมูลไอพีพี เหมือนที่ผ่านมานั้น เพราะที่ประชุมเห็นว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) สามารถเจรจาค่าไฟฟ้ากับ  ราชกรุ๊ป ได้เงื่อนไขค่าไฟฟ้าต่ำที่สุดแล้ว  เนื่องจากเป็นการลงทุนในพื้นที่เดิม ที่มีทั้งระบบสายส่งไฟฟ้าและระบบท่อส่งก๊าซที่เป็นโครงข่ายเดิมเชื่อมต่อ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตของภาคเอกชนในวงการพลังงานว่า ภาครัฐมีทางเลือกที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าได้ดีกว่านี้  ด้วยการเปิดให้มีการประมูลแข่งขันในรูปไอพีพี เหมือนที่ผ่านมา  ซึ่งรัฐสามารถกำหนดพื้นที่แข่งขันเป็นภาคตะวันตก ที่มีแนวสายส่งไฟฟ้าและระบบท่อก๊าซของปตท.รองรับเช่นเดียวกับที่ราชกรุ๊ปมีความพร้อมได้   โดยใครเสนอเงื่อนไขราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุด หรือเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐมากที่สุด ก็ควรจะได้เป็นผู้ลงทุน  ทั้งนี้รัฐอาจจะใช้ราคาการเจรจากับราชกรุ๊ป เป็นตัวตั้งเพื่อเปรียบเทียบกันได้

 

 

Advertisment