3แกนนำERS หนุนทบทวนแผนPDP2018

- Advertisment-

3แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนหรือ ERS ซึ่งต่างได้รับการเชิญให้เป็นที่ปรึกษานายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ หนุนทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับล่าสุดหรือPDP 2018 โดย “พรายพล ” เสนอปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ และขยะ ที่เป็นวัตถุดิบที่จัดหาได้ในประเทศให้มากขึ้น  ในขณะที่ “คุรุจิต”ระบุการจัดทำPDP2018 มีความเร่งรีบ พร้อมเสนอให้พื้นที่ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในแผนPDP เช่นเดียวกับที่เคยบรรจุไว้ในPDP2015 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับพื้นที่ได้มากกว่าการไปตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ที่ จังหวัดราชบุรี แล้วส่งไฟป้อนภาคใต้ ส่วน”มนูญ” เรียกร้องให้รัฐบาลชัดเจนในการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง “ก๊าซ “หรือ”ถ่านหิน “

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ หนึ่งในแกนนำERS

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ หนึ่งในแกนนำERS  กล่าวบนเวทีงานครบรอบ 5 ปี ภายใต้หัวข้อ 5 ปี ERS: “ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย” จัดขึ้นที่หอประชุมสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา  ระบุว่า ถึงแม้ว่าตัวเขาจะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำแผน PDP2018 แต่ก็เคยได้มีการแสดงความเห็นคัดค้านในหลายประเด็น และเห็นว่าแผน PDP2018 (ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 24ม.ค.2562 และผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562) ยังมีข้อบกพร่องที่ต้องมีการแก้ไขทบทวน โดยเฉพาะการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่ต่ำเกินไป โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่มาจาก ชีวมวล เช่น แกลบ ชานอ้อย ไม้โตเร็ว และทรัพยากร อื่นๆ  จากชีวภาพ เช่นน้ำเสีย และจากขยะRDF ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถจัดหาได้ภายในประเทศ โดยในหลายพื้นที่มีศักยภาพของชีวมวลแต่ละประเภทที่แตกต่างกันไป จึงเสนอให้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน ที่กำหนดรับซื้อไว้ปีละ100 เมกะวัตต์ ต่อเนื่องเป็นเวลา10ปี  ควรจะมีการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อให้สูงกว่าราคาที่กำหนดไว้ในปัจจุบันที่ 1.68 บาทต่อหน่วย  ที่เป็นราคาซึ่งไม่จูงใจและทำให้โครงการไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน  อย่างไรก็ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นก็จะต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าในส่วนของเอฟที

- Advertisment -
คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และหนึ่งในแกนนำERS

ในขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และหนึ่งในแกนนำERS  กล่าวในประเด็นPDP2018 ด้วยว่า กระบวนการจัดทำPDP2018 และการเปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นไปอย่างเร่งรีบ (สนพ.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างPDP2018 ใน 4 ภูมิภาคต่อเนื่อง 3ธ.ค.2561 ที่เชียงใหม่ 4ธ.ค.2561ที่ขอนแก่น 6ธ.ค.2561ที่สุราษฎร์ธานี 7ธ.ค.2561 ที่ชลบุรี ) อีกทั้งยังมีข้อกังวลเรื่องการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึง กระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เป็นทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ไฟฟ้าหรือProsomer  ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  เนื่องจากเทคโนโลยีของโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ ที่พัฒนาขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลงมาก   อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้แผนนี้มุ่งเน้นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ ยังเห็นถึงความจำเป็นของการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ เพื่อความมั่นคงไฟฟ้า ตามที่เคยบรรจุไว้ ในPDP2015 โดยให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงชนิดของเชื้อเพลิง  แต่ PDP2018 กลับเน้นประเภทเชื้อเพลิงไปที่ก๊าซธรรมชาติ  โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว  โดยไปเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงที่จังหวัดราชบุรี  และส่งไฟฟ้ากลับมาเสริมความมั่นคงที่ภาคใต้  ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง เหมือนที่เคยเกิดกรณีฟ้าผ่า สายส่งและทำให้ไฟฟ้าดับ14 จังหวัดที่ภาคใต้มาแล้ว  (ฟ้าฝ่าลูกถ้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูง500เควี จอมบึง-บางสะพาน  เมื่อวันที่21 พ.ค.2556 จนทำให้14จังหวัดที่ภาคใต้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง นับเป็นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในรอบ30ปี)

โดยนายคุรุจิต กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะต้องมีความกล้าในการตัดสินใจ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่ และเทพา ซึ่งไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในPDP2018 นั้น ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ได้ดี กว่าโรงไฟฟ้าที่ไปตั้งที่ภาคตะวันตก   โดยเสียงของคนในพื้นที่ที่สนับสนุน มีมากกว่า เสียงคนที่คัดค้าน ซึ่งตนเองเห็นว่า ทุกโครงการของรัฐ จะต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา

มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แกนนำERS

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แกนนำERS  กล่าวในประเด็นเดียวกันนี้ว่า อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนว่าในภาคใต้จะเลือกให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ เพราะ ได้มีการตั้งคณะกรรมการSEA ศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้  ที่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ  โดยที่ผ่านมารัฐมนตรีพลังงานคนเก่า มีการลงนามเอ็มโอยูกับทั้งกลุ่มคนที่คัดค้านและกลุ่มคนที่สนับสนุน

Advertisment