เว้นวรรคซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบจนถึงปี2569

- Advertisment-

ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถูกเว้นวรรคขายเข้าระบบ 8ปีหรือจนถึงปี2569 แต่กระทรวงพลังงานยืนยันจะส่งเสริมให้ผลิตเพื่อใช้และขายกันเองไปก่อนที่จะเปิดให้ขายเข้าระบบได้อีกครั้งตั้งแต่ปี2570 เป็นต้นไป  ในขณะที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เจอโรคเลื่อนอีกเป็นครั้งที่สอง  จาก7ม.ค. เป็น7ก.พ.2562 เพื่อรอการปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือPDP 2018  แล้วเสร็จ รวมทั้ง ข้อเสนอต่ออายุสัญญาSPP Cogeneration และหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน นำร่อง100 เมกะวัตต์ จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)  

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการสัมมนา “การสื่อสารนโยบายสู่ภาคปฏิบัติของกระทรวงพลังงาน ปี 2562” ว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศฉบับใหม่ ที่อาจจะเรียกว่าPDP2018หรือPDP2019 นั้น จะยังไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบในช่วงปี2562-2569 เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองยังอยู่ในระดับสูง และไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังไม่มีความเสถียร  แต่เชื่อว่าในอนาคตที่ต้นทุนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน(Energy Storage System)จะมีขนาดเล็กและถูกลง จนทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความเสถียร จึงจะเปิดให้ผู้ประกอบการขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ตั้งแต่ปี2570 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามในช่วงที่จะไม่มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ กระทรวงพลังงานจะมีมาตรการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ และส่งขายกันเองในกลุ่มไปก่อน ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้มีการทำความเข้าใจกับตัวแทนกลุ่มพลังงานหมุนเวียนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แล้ว

- Advertisment -

ทั้งนี้ในภาพรวมของPDP ฉบับใหม่ นั้น สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จะอยู่ที่ประมาณ 30% แบ่งเป็นพลังงานทดแทน  20% และพลังงานน้ำจากต่างประเทศอีกประมาณ 10% โดยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะมีทั้งสิ้น 18,176 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์, โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์, โซลาร์ลอยน้ำรวมกับไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์,พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์

สำหรับการจัดทำแผนPDPนั้น มีกำหนดให้ปรับปรุงใหม่ทุก 3-4 ปี ตามสถานการณ์พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีพลังงานทดแทนก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง มีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้นได้อีก

นายกุลิศ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าใน การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ภาคประชาชน  หรือโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์นั้น ว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างการออกกฎเกณฑ์ เพี่อเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากเดิมกำหนดประชุมในวันที่ 7 ม.ค. 2562 แต่มีแนวโน้มเลื่อนการประชุมออกไปอีกครั้ง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าภาคประชาชนนำร่อง 100 เมกะวัตต์ก่อนในช่วงปีแรก

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  การประชุมกพช.มีการเลื่อนออกไปเป็นครั้งที่สองแล้ว จากเดิมครั้งแรกที่คาดว่าจะมีการประชุมตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2561 และเลื่อนมาเป็นวันที่ 7 ม.ค.2562 ก่อนที่ จะถูกเลื่อนอีกครั้งมาเป็นวันที่ 7 ก.พ. 2562  โดยคาดว่าจะมีวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณา ในหลายเรื่อง  เช่นร่างแผนPDPฉบับใหม่  โครงการโซลาร์ภาคประชาชน   การพิจารณาต่ออายุสัญญา SPP Cogeneration ทั้ง25 ราย เป็นต้น

ทั้งนี้คาดว่าการประชุม กพช. วันที่ 7 ก.พ. อาจจะเป็นนัดสุดท้าย ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพราะปกติ การประชุมกพช.นั้นจะจัดให้มีขึ้นทุกๆ 2เดือน

Advertisment

- Advertisment -.