ไทยยังหนุนลาวเป็นแบตเตอรี่อาเซียน ยันกรณีเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยไม่กระทบความมั่นคงไฟฟ้า

- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน ย้ำไทยซื้อไฟฟ้าจากลาวเกิดผลดีต่อทั้งสองประเทศ โดยจะหนุนให้ลาวบรรลุเป้าหมายการเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน พร้อมระบุหากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ไทยได้ตามสัญญา ก็จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้า เพราะไทยยังมีปริมาณสำรองมากเพียงพอ ในขณะที่ได้สั่งการหน่วยงานในกำกับกระทรวงพลังงาน ทั้ง ปตท. กฟผ. บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยใน สปป. ลาว ขณะนี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยถึงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ว่า เป็นนโยบายที่ดีที่จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันทั้ง สปป.ลาว และไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และ เวียดนาม อีกทั้งยังเป็นการหนุนนโยบายของ สปป.ลาว ที่ต้องการเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน

โดยจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานนั้น ระบุว่า ไทยมีข้อตกลง MOU ที่จะซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 9,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579  ซึ่ง สปป.ลาวได้เสนอให้ไทยเร่งพิจารณารับซื้อตามข้อตกลง โดยขณะนี้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแล้ว 5,965 เมกะวัตต์ และสามารถดำเนินการผลิตและส่งขายไฟฟ้าแล้วจำนวน 3,500 เมกะวัตต์ ที่เหลืออีก 4 โครงการ 3,400 เมกะวัตต์ กำลังก่อสร้าง ซึ่งมีโครงการที่เตรียมจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) มายังไทยในปี 2562 ได้แก่   โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กำลังผลิต 1,220 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังผลิต 354 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเงี๊ยบ 1 กำลังผลิต 269 เมกะวัตต์ รวม 1,843 เมกะวัตต์ และในปี 2565 มี COD 1โครงการได้แก่โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 กำลังผลิตราว 520 เมกะวัตต์

- Advertisment -

สำหรับกรณีเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D ของเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยเกิดทรุดตัว ส่งผลให้สันเขื่อนดินย่อยเกิดรอยร้าวและน้ำไหลออกไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ นั้น นายศิริกล่าวว่า ได้รับรายงานว่าการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเขื่อนนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งอุบัติภัยที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนมีผลกระทบต่อเขื่อนดินส่วน D ที่กั้นน้ำระหว่างช่องเขา ในขณะนี้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ทั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทในเครือ รวมทั้ง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้เร่งระดมความช่วยเหลือในรูปเงินกว่า 10 ล้านบาท พร้อมถุงยังชีพ และเตรียมส่งช่างไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐบาล สปป.ลาวร้องขอ

ทั้งนี้ โครงการฯดังกล่าว ยังเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไทย-สปป.ลาว โดยจะสร้างเสร็จ เดือน พ.ย. 2561 นี้ และส่งขายตามสัญญาเข้าระบบได้ในเดือน ก.พ. 2562 อย่างไรก็ตาม หากโครงการฯเกิดความล่าช้า ทางกระทรวงพลังงานก็ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาต่อความมั่นคงของไทยเพราะปริมาณสำรองไฟฟ้ายังมีอยู่สูงมาก

Advertisment