โครงการซื้อขายไฟ ลาว ไทย มาเลเซีย มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณเป็น 200-300 เมกะวัตต์

- Advertisment-

ผลประชุมในเวทีรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 36 เมื่อวันที่ 29ต.ค.2561 ที่สิงคโปร์  มีแนวโน้มที่จะขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าพหุภาคีระหว่าง สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM on Power Integration Project) จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 200-300 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนการประชุมครั้งหน้าที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงภายหลังการเข้าร่วมคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (ASEAN Ministers on Energy Meetings – AMEM) ครั้งที่ 36 ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2561  ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการขยายกรอบความร่วมมือพหุภาคีด้านไฟฟ้าในโครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM on Power Integration Project) โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณการรับซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิม 100 เมกะวัตต์ เป็น 200-300 เมกะวัตต์  แต่จะต้องมีการหารือในรายละเอียดกันอีกครั้ง และคาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในการประชุม AMEM ครั้งต่อไปที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ

ทั้งนี้โครงการ LTM on Power Integration Project ได้มีการนำร่องโครงการเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา ภายใต้กรอบ 100 เมกะวัตต์  โดยที่ กฟผ.จะมีการคิดค่าผ่านสายส่ง (Wheeling Charge ) ในราคาที่ไม่สูงมากนัก แต่ไม่ใช่ราคาที่ขาดทุน เพื่อให้การดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในฐานะผู้ขายไปยัง มาเลเซีย ในฐานะผู้ซื้อเกิดขึ้นได้  และถือเป็นการทดสอบระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.ด้วย

- Advertisment -

นายพัฒนากล่าวว่า ข้อตกลงภายใต้กรอบ 100 เมกะวัตต์ นั้น หมายความว่า กฟผ.จะต้องเตรียมความพร้อมของระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ (เควี) เอาไว้ เมื่อมีความต้องการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว กับมาเลเซีย ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง  โดยการจะขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 200 เมกะวัตต์ หรือ 300 เมกะวัตต์ ในอนาคตนั้น กฟผ.ก็จะต้องเตรียมพื้นที่ความจุของระบบสายส่งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม  ซึ่งในระเบียบพิธีการปฏิบัตินั้น มีข้อตกลงร่วมกันอยู่แล้วว่าจะต้องแจ้งบอกล่วงหน้ากันอย่างไร

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า โครงการ LTM on Power Integration Project ยังมีประเทศเมียนมาที่ให้ความสนใจจะเข้าร่วมโครงการ แต่ฝ่ายไทยได้แจ้งเงื่อนไขแล้วว่าการเชื่อมต่อระบบสายส่งระหว่างประเทศ จะต้องเป็นกระแสสลับที่มีขนาดแรงดัน 500 เควี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าว ทางมาเลเซียจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า จาก สปป.ลาว ในราคาคงที่ ประมาณ 6.3 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย ในขณะที่ กฟผ. จะคิดค่าผ่านสายส่งอยู่ที่ประมาณ 0.85 เซนต์ต่อหน่วย โดยเป็นการรับซื้อบางช่วงเวลาตามที่มีความต้องการ แต่ยังไม่ถึงปริมาณสูงสุดตามที่ตกลงกันไว้คือ 100 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง

Advertisment

- Advertisment -.