‘เปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล’ ก้าวต่อไปของศูนย์เศรษฐพัฒน์

- Advertisment-

เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC) ได้เดินทางไปจังหวัดสงขลาเพื่อเยี่ยมชมศูนย์เศรษฐพัฒน์และศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Response Training Center -ERTC) และมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และคุณวิษุวัต สิงหศิริ ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ ทำให้เรามองเห็นถึงก้าวต่อไปของการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียมแห่งนี้ ที่จะนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกอบรม เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถสำหรับการทำงานด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ท้าทายมากขึ้นในอนาคต

 

เศรษฐพัฒน์เป็นศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียมแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 หรือ 38 ปีที่แล้ว เพื่อพัฒนาช่างเทคนิคปิโตรเลียมชาวไทยไปปฏิบัติงาน ณ เอราวัณ แหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในอ่าวไทย ที่กำลังจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ (เริ่มผลิตปี 2524) ทั้งนี้ ‘เศรษฐพัฒน์’ เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นตั้งศูนย์จนถึงปัจจุบันสามารถฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียมคนไทยให้ออกไปทำงานได้จริงบนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยแล้ว 46 รุ่น รวมกว่า 1,700 คน นอกจากนั้น ศูนย์เศรษฐพัฒน์ยังได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ จนได้ชื่อว่าเป็นศูนย์ฝึกที่มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

- Advertisment -
ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

คุณไพโรจน์ บอกกับทีมข่าว ENC ว่าในอนาคตศูนย์เศรษฐพัฒน์จะยังคงความสำคัญในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียมของเชฟรอน โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการเรียน การสอน และการฝึกอบรมมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเน้นเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่างเทคนิคปิโตรเลียมที่จะออกไปทำงานบนแท่นผลิตกลางอ่าวไทยจะต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน

วิษุวัต สิงหศิริ ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์

ในขณะที่ คุณวิษุวัต ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ ซึ่งเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เข้ามารับหน้าที่นี้ได้ไม่นาน บอกถึงภารกิจสำคัญของเขาที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารคือ Digital Transformation หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในหลากหลายมิติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกอบรม เช่น การสอนทางไกลผ่านสื่อออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ การทำแบบจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยี Virtual reality–VR หรือระบบ Simulator มาใช้ เพื่อช่วยให้การฝึกอบรมมีสถานการณ์สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงบนแท่นผลิตให้มากที่สุด โดยการพัฒนาหลักสูตรหลายๆเรื่อง ที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของศูนย์เศรษฐพัฒน์นั้น ล้วนได้รับการรับรองจากสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร (Offshore Petroleum Industry Training Organization หรือ OPITO)

ทั้งนี้ การเปิดรับสมัครช่างเทคนิคปิโตรเลียมของศูนย์เศรษฐพัฒน์ ในอนาคตจะเปิดตามความต้องการในเนื้องานของทางเชฟรอนเป็นหลัก โดยเปิดกว้างให้นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทั่วประเทศยื่นสมัครเข้ามา ซึ่งในการเปิดรับสมัครแต่ละครั้งจะมีผู้ให้ความสนใจประมาณ 2-3 พันคน และคัดเลือกให้เหลือเพียง 30-40 คน ใช้เวลาฝึกอบรมรุ่นละ 6-8 เดือน โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติทั้งความรู้ด้านช่างที่เกี่ยวกับการทำงานบนแท่นผลิตปิโตรเลียม มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม การซ้อมเผชิญเหตุฉุกเฉิน ความรู้ทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นต้น ทั้งยังต้องออกไปฝึกทำงานจริงบนแท่นผลิตกลางอ่าวไทย ก่อนที่จะจบหลักสูตรและได้รับประกาศนียบัตร

 

นอกจากนั้น คณะสื่อมวลชนยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม ศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือเรียกสั้นๆ ว่า ERTC (Emergency Response Training Center) ของเชฟรอน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์เศรษฐพัฒน์มากนัก โดย ERTC ถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมพนักงานในเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่มีการจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงให้พนักงานได้ฝึก โดยเฉพาะการรับมือกับอัคคีภัยได้อย่างทันท่วงทีและมีความปลอดภัย เนื่องจากแท่นผลิตปิโตรเลียมซึ่งมีก๊าซและน้ำมันที่เป็นวัตถุไวไฟนั้นมีโอกาสที่จะเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นได้ ถึงแม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นเลยก็ตาม

 

นอกเหนือจากฝึกผจญเพลิง ยังมีการฝึกด้านความปลอดภัยอื่นๆ อีกด้วย เช่น การทำงานในที่สูง การใช้ปั้นจั่น การเข้าไปในอุปกรณ์ที่อับอากาศจะเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงกับชีวิตของคนที่เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องรู้วิธีว่าจะช่วยออกมาได้อย่างไร ทั้งนี้ผู้บริหารของเชฟรอนเห็นว่าในทุกขั้นตอนในการทำงานบนแท่นผลิตนั้น ชีวิตความปลอดภัยของพนักงานมีความสำคัญสูงสุด

การเตรียมความพร้อมของเชฟรอนในการพัฒนาศูนย์ฝึกช่างเทคนิคปิโตรเลียมเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ในการทำงานบนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่จะมีความท้าทายที่มากขึ้น เพราะแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่มีการผลิตมาแล้วกว่า 36 ปีนั้น จะมีขนาดของแหล่งที่เล็กลง ขุดเจาะผลิตยากขึ้น มีต้นทุนที่สูงขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้สามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานก็จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ควบคู่กับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง

 

Advertisment

- Advertisment -.