เครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินขวางจุฬาฯ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ SEA

- Advertisment-

“เครือข่ายสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน” บุกกระทรวงพลังงานยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงาน ขอให้ “คณะกรรมการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์  สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ (SEA)” คัดเลือกที่ปรึกษาอย่างโปร่งใส หวั่นจุฬาฯ คว้างบ 50 ล้านศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ เหตุที่ผ่านมามีประวัติหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชัดเจน โดยขอส่งตัวแทนร่วมฟังผลคัดเลือกจ้างทีมที่ปรึกษา 19 พ.ย.นี้ 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อเวลา 9.30 น. เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 ตัวแทนเครือข่ายสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน นำโดยประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนายธีระพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา ได้เดินทางมายังอาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอให้พิจารณาคัดเลือกผู้จัดทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์  สำหรับพิ้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้(SEA) ด้วยความโปร่งใส โดยมีนายธีรศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน และนางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง และเลขานุการ SEA เป็นตัวแทนจากฝั่งกระทรวงพลังงาน รับมอบหนังสือดังกล่าว

โดยในสาระสำคัญของหนังสือระบุว่า ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงนามข้อตกลงกับเครือข่ายฯ เพื่อให้เกิดการประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์กรณีความขัดแย้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กระบี่ อันจะนำไปสู่การกำหนดเชิงนโยบายที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการพลังงานในภาคใต้ รวมถึงการขจัดข้อขัดแย้งต่อกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่

- Advertisment -

เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้กระบวนการจัดทำ SEA จะต้องมีจุดเริ่มต้นที่ดีโดยคำนึงถึง 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ผู้ทำการประเมินเชิงยุทธศาสาตร์จะต้องเป็นที่ยอมรับถึงความเป็นกลางโดยไม่มีประวัติของนักวิชาการผู้ทำการประเมินซึ่งแสดงเจตนารมณ์เอนเอียงไปยังแนวทางใดแนวทางหนึ่งมาก่อน

2.วิธีการประเมินผลจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยไม่เพียงเน้นด้านเทคนิคการประเมินเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญของการประเมินเชิงยุทธศาสาตร์คือการสร้างทางเลือกการพัฒนา

ดังนั้น ในกระบวนการคัดเลือกที่ปรึกษาจัดทำSEA จึงขอให้รัฐมนตรีกำชับให้กรรมการทำหน้าที่อย่างซื่อตรง และไม่คัดเลือกผู้ที่มีประวัติไม่เป็นกลางมาจัดทำรายงานการประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์ เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ เนื่องจากการไม่ยอมรับในตัวผู้ประเมินผล อีกทั้งขอให้กรรมการเปิดเผยวิธีการทำงาน การประเมินผลและรายชื่อนักวิชาการของผู้เข้ารับการคัดเลือกทั้งหมดให้สาธารณะรับทราบ

ด้านนายประสิทธิชัย กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯต้องการให้ภาครัฐ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนร่วมรับทราบการคัดเลือกทีมที่ปรึกษาจัดทำSEA ตั้งแต่ต้น หลังทราบว่าขณะนี้เหลือมหาวิทยาลัยที่มีคะแนนสูงสุดเพียง 2 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  ซึ่งเครือข่ายฯมีความเป็นห่วง หากสุดท้ายแล้วผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ปรึกษาฯคือ จุฬาฯ เพราะหากย้อนดูประวัติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการของจุฬาฯมีท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถึงแม้ว่าในทีมที่ปรึกษาจะมีทีมงานร่วมกับอีกหลายมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าผลการศึกษาจะเป็นกลาง ฉะนั้น หากผลการศึกษาออกมาแล้วไม่เป็นที่ยอมรับ อาจส่งผลให้กระบวนการต่างๆล้มเหลวได้

“ในวันที่ 19 พ.ย.นี้ คณะกรรมการ SEA จะเชิญทั้ง 2 มหาวิทยาลัยที่มีคะแนนสูงสุดคือ จุฬาฯ และ นิด้า มาพรีเซ็นต์ข้อมูลเพื่อลงคะแนนคัดเลือกที่ปรึกษานั้น ทางเครือข่ายฯจะมาร่วมติดตามผล ซึ่งหากจุฬาฯชนะ เชื่อว่าต้องมีปัญหาเกิดขึ้นแน่ เราไม่ได้เป็นห่วงว่ากระบวนการศึกษา SEA จะล่าช้าไหม แต่ต้องการให้ผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับ เพราะ 5ปีที่ผ่านมาเราทะเลาะกันเรื่องของถ่านหินมามากแล้ว” นายประสิทธิชัย กล่าว

ส่วนนายธีระพจน์ กล่าวว่า เครือข่ายฯเป็นห่วงด้านข้อเสนอของทีมที่ปรึกษาเรื่องของทางเลือกเชื้อเพลิงจะเหมาะสมต่อการผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ หากได้ทีมที่ปรึกษาฯที่เอนเอียง ซึ่งปัจจุบันนี้ ภาคใต้กำลังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ด้วยพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ที่เกาะลันตา และเตรียมขยายโมเดลของเกาะลันตาไปฝั่งอันดามัน ซึ่งหากสำเร็จในอนาคตภาคใต้ยิ่งไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มูลค่าราว 5 แสนล้านบาท

นางพัทธ์ธีรา กล่าวว่า จะได้นำข้อห่วงใยต่างๆรายงานให้คณะกรรมการ SEA รับทราบ และยืนยันว่า คณะกรรมการฯมีความเป็นกลาง และเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาฯโปร่งใส ให้น้ำหนักทั้งคะแนนบุคคล และกระบวนการศึกษา โดยขณะนี้เหลือ 2 ทีมที่จะต้องมานำเสนอรายละเอียดแผนงานในกระบวนการศึกษาต่อคณะกรรมการฯอีกครั้ง ซึ่งภายในเดือนพ.ย. 2561นี้ จะได้ทีมที่ปรึกษาฯ และส่งรายชื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)พิจารณาเพื่อรับงบประมาณ 50 ล้านบาทในการว่าจ้างฯศึกษาSEA ต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่า กระบวนการศึกษาจะเริ่มได้ภายในเดือนธ.ค.2561 นี้ และภายใน 5 เดือน จะต้องได้คำตอบว่า ในพื้นที่จ.กระบี่ และเทพา จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นหรือไม่ และภายใน 9 เดือนจะได้รับคำตอบที่ครอบคลุมทั้ง 15 จังหวัดในภาคใต้

Advertisment