รัฐมนตรีพลังงาน เตรียมลงนามสัญญาพีเอสซี เอราวัณ-บงกช กับปตท.สผ.และมูบาดาลา 25ก.พ.นี้

- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน เตรียมลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี)ร่วมกับผู้ชนะประมูลแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ  และบงกช ทั้ง บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด  และ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด  ในเครือ มูบาดาลา  ในวันที่ 25 ก.พ.2562 นี้  จากนั้น บริษัทผู้รับสัญญาจะต้องส่งแผนลงทุนผลิตก๊าซในพื้นที่มายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภายใน 45 วัน หลังลงนาม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 ก.พ.2562  นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้ลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยแปลง       G1/61(แปลงเอราวัณ ) คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เครือมูบาดาลา   และในแปลงG2/61(แปลงบงกช) กับบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งเป็นไปตามมติการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจลงนามในสัญญา เมื่อได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อยู่ระหว่างเตรียมส่งเอกสารแจ้งไปยังผู้ได้รับสิทธิสำรวจแปลงเอราวัณและบงกช คือ ปตท.สผ. และ มูบาดาลา เพื่อเตรียมการลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลอย่างเป็นทางการ หลังจากที่สำนักงานอัยการฯได้ส่งร่างหนังสือสัญญาลงนามกลับมายังกรมแล้ว

- Advertisment -

สำหรับพิธีลงนามสัญญาฯนอกจากจะมีผู้ร่วมลงนาม คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับผู้บริหารของ ปตท.สผ. และมูบาดาลา ที่เป็นผู้ชนะการประมูลแล้ว ในฝั่งกระทรวงพลังงาน จะมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมเป็นพยานในพิธีด้วย ซึ่งหลังจากการลงนามในครั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่ง จะเริ่มเข้าไปดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่ได้อย่างเป็นทางการ หลังสิ้นสุดอายุสัมปทานแปลงเอราวัณ  23 เม.ย. 2565 และแปลงบงกช 7 มี.ค. 2566 แต่ในระหว่างนี้จะผ่อนผันให้สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเริ่มดำเนินการผลิตได้จริง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิตทันทีที่สิ้นสุดสัมปทานเดิม

อย่างไรก็ตาม หลังจากลงนามสัญญาร่วมกันแล้ว ผู้ชนะการประมูลซึ่งเป็นคู่สัญญาจะต้องส่งแผนเตรียมการลงทุนผลิตก๊าซฯในพื้นที่ มายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภายใน 45 วัน หลังจากมีการลงนามสัญญาฯ

ทั้งนี้ การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ และบงกชในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้ประกาศไว้ในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นขอสิทธิ(IFP) ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 จากนั้นได้ให้เวลาบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลได้เข้าศึกษาข้อมูล จัดทำเอกสารการประมูล และเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 25 ก.ย. 2561 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้

โดยผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ คือบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวล ลอปเมนท์ จำกัด ถือหุ้น 60% ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือมูบาดาลา ถือหุ้น 40% ส่วนผู้ชนะการประมูลแหล่งบงกช คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ถือหุ้น 100%

Advertisment