พพ.จับมือ เชลล์ ศึกษาเปลี่ยนผักตบชวาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ

- Advertisment-

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)จับมือ เชลล์ ศึกษานำผักตบชวาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ หวังใช้ทดแทน ก๊าซหุงต้ม หรือเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่จะช่วยแก้ปัญหาขยะวัชพืชในแม่น้ำลำคลอง แนะปัดฝุ่นโครงการนำร่องเดิม ของพพ. มาต่อยอดลงทุนเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินโครงการ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการมอบนโยบายกับพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่4ม.ค.2562ที่ผ่านมาว่า ในส่่วนของการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ นั้นทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ได้ร่วมมือกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำผักตบชวามาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ  ซึ่งในเร็วๆนี้จะมีการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินเดีย

โดยหากการศึกษาโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการลงทุน เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาผักตบชวาที่มีปริมาณมากเกินไปจนเป็นขยะวัชพืชในแม่น้ำลำคลองต่างๆ  ที่ในแต่ละปีรัฐต้องเสียงบประมาณในการกำจัดจำนวนมาก ได้เป็นอย่างดี

- Advertisment -

ด้านแหล่งข่าวจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า พพ.เตรียมจัดทำรายละเอียดโครงการนำผักตบชวามาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า เสนอต่อปลัดกระทรวงพลังงานในเร็วๆนี้  เบื้องต้นจะนำเสนอให้จัดทำเป็นโครงการนำร่องขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีศักยภาพวัตถุดิบและคุ้มค่าการลงทุน

โดยเมื่อปี 2559 พพ.เคยศึกษาการนำผักตบชวามาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และขณะนั้นมีแผนจะจัดตั้งโรงไฟฟ้านำร่องดังกล่าวที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน แต่เมื่อศึกษาแล้วพบว่า ศักยภาพวัตถุดิบและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่เหมาะสม จึงไม่ได้จัดตั้งโรงไฟฟ้าขึ้น

จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า มี 4 จังหวัดที่มีผักตบชวาปริมาณมากได้แก่ 1. จังหวัดชัยนาท มีปริมาณผักตบชวา  1 แสนตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 8.7 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี  2. จังหวัดสุพรรณบุรี มีผักตบชวา 1.4 แสนตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 1.1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี 3.จังหวัดนครปฐม มีผักตบชวา 1.13 แสนตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 9 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี  และจังหวัดสมุทรสาคร มีผักตบชวา 5 พันตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 4 พันลูกบาศก์เมตรต่อปี

ทั้งนี้ มีการประเมินความเป็นไปได้ว่าจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสุพรรณ อาจตั้งโรงไฟฟ้าจากผักตบชวาได้ แต่เมื่อพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์พบว่า จะต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนนานถึง  15-26 ปี
จึงเห็นว่าหากนำก๊าซชีวภาพดังกล่าวมาผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม(LPG)จะเหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ตามเมื่อกระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ศึกษาใหม่อีกครั้ง พพ.จะดำเนินการสำรวจผักตบชวาในพื้นที่ดังกล่าวใหม่ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม โดยหากจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ คาดว่าต้องใช้เวลาศึกษา 1 ปี แต่หากเป็นนโยบายเร่งด่วน เห็นควรให้นำโครงการนำร่องที่ พพ.เคยศึกษาไว้มาศึกษาเพิ่มเติมและใช้เป็นโครงการนำร่องแทน เบื้องต้นประเมินการใช้วงเงินดำเนินการประมาณ 10 ล้านบาทต่อโครงการ เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ พพ.จะหารือกับ ปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.