ประเมินตัวแทนรัฐร่วมลงทุนในแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ บงกช สัดส่วน25% ใช้เงิน2.5แสนล้านใน10ปี

- Advertisment-

คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน เริ่มเปิดซองเอกสารพิจารณาแล้ววันนี้ (26 ก.ย. 2561) ระบุเงื่อนไขหน่วยงานรัฐร่วมลงทุนในสัดส่วน25% ต้องใช้เงินประมาณ 2.5แสนล้านบาทในระยะเวลา10ปี โดยรัฐมนตรีพลังงาน ชี้ ปตท.สผ.ถือเป็นหน่วยงานรัฐ ตามที่ทีโออาร์กำหนด

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561ว่า  คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่มี นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เป็นประธาน ได้เริ่มเปิดซองข้อเสนอการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ซองที่ 1-3 ของผู้ประมูล ได้แก่  1.ซองเอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบปิโตรเลียมตามกฎหมาย 2.ซองเอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน 3.ซองเอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการแผนงานการสำรวจและแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม แล้ว แต่เป็นการตรวจความถูกต้องของเอกสารที่มีกว่าพันหน้า ด้วยการลงลายเซ็นกำกับ เท่านั้น โดยในวันที่ 27 ก.ย. 2561 คณะอนุกรรมการฯ จะเริ่มพิจารณาข้อเสนอทั้ง 3 ซอง ที่จะใช้ระยะเวลา 1 เดือน หรือพิจารณาเสร็จปลายเดือน ต.ค. 2561

โดยหากผ่านเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลทั้ง 3 ซอง จะได้รับการพิจารณาเปิดซองที่ 4 คือซองเอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย และคาดว่าจะได้ข้อสรุปผู้ชนะประมูล ในเดือนพ.ย. 2561 จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการปิโตรเลียมซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน รับทราบเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเดือน ธ.ค. 2561  ซึ่งตามแผนที่กำหนดจะเริ่มลงนามกับผู้ชนะประมูลในเดือน ก.พ. 2562

- Advertisment -

นายศิริ ตอบคำถามถึง กรณีซองเอกสารที่2 ที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล(TOR)ให้ผู้ประมูลต้องเสนอให้รัฐเข้ามามีสัดส่วนการลงทุนด้วยนั้น  บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ถือว่ามีคุณสมบัติเป็นหน่วยงานรัฐ ที่สามารถเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนได้ ส่วนผู้ประมูลจะเสนอใครเป็นตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่ให้เข้าร่วมลงทุนนั้นก็เป็นสิทธิ์ที่ผู้เข้าประมูล แต่คณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้หน่วยงานรัฐใดเป็นผู้เข้าไปลงทุน

โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นกำหนดให้ภาครัฐที่จะเข้าร่วมลงทุนได้จะต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง เพราะจากการประเมินพบว่า จะต้องมีการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียมใหม่ประมาณ 150 แท่น ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นในสัดส่วนที่รัฐจะต้องเข้าไปร่วมลงทุนจะอยู่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท จึงต้องมีความมั่นคงทางการเงิน ส่วนหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องเป็นหน่วยงานด้านพลังงานหรือไม่นั้น จะมีการพิจารณากันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามรัฐจะมีรายได้จากค่าภาคหลวง ค่าภาษีและโบนัสพิเศษปีละ 8 หมื่นล้านบาท หรือ 8 แสนล้านบาทในระยะเวลา10ปี

นายศิริ กล่าวว่า สำหรับการยื่นซองประมูลในครั้งนี้มีเพียง 2 ราย ถือว่าเป็นที่น่าพอใจและเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ที่ให้เกิดการแข่งขันจริง โดยทั้ง ปตท.สผ. และ เชฟรอน  ถือว่าเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม ที่จะไปแข่งขันข้ามแปลงกัน   ส่วนกรณีที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าประมูล เนื่องจากพบข้อมูลว่าแหล่งก๊าซฯไทย ไม่ใช้แหล่งก๊าซฯขนาดใหญ่ เป็นเพียงกระเปาะเล็กๆ ที่ต้องใช้ความสามารถในการขุดเจาะสำรวจสูง เมื่อเทียบกับแหล่งปิโตรเลียมของประเทศอื่นๆ

ด้าน นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ปตท.สผ.ถือเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่ง ปตท.สผ. สามารถเสนอตัวเองในสัดส่วนของหน่วยงานรัฐได้เช่นกัน

สำหรับTOR การประมูลในครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้ประมูลต้องเสนอเงื่อนไขสัดส่วนการให้รัฐเข้าลงทุน 25% เท่านั้น ส่วนภาครัฐมีสิทธิ์พิจารณาว่าจะเข้าไปลงทุนได้ตั้งแต่ 1-25% ตามความเหมาะสม และสามารถพิจารณาให้หน่วยงานรัฐใดเข้าไปลงทุนก็ได้เช่นกัน โดยคาดว่าจะทราบผลสรุปพร้อมกับการประกาศผู้ชนะการประมูลในเดือนธ.ค. 2561 หลังจากผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว

Advertisment

- Advertisment -.