ปตท.- บีไอจี ทุ่ม1,500 ล้านบาท นำความเย็นเหลือทิ้งจาก LNG มาผลิตเป็นก๊าซอุตสาหกรรม

- Advertisment-

ปตท. – บีไอจี ลงนามความร่วมมือดำเนินโครงการ Air Separation Unit หรือ ASU  ตั้งโรงแยกอากาศใช้ความเย็นเหลือทิ้งจากแอลเอ็นจีผลิตก๊าซอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ขนาดกำลังการผลิต  450,000 ตันต่อปี มูลค่าการลงทุน 1,500 ล้านบาท พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2564 หวังรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์  รวมทั้งโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ อีเอฟซี (EFC) สนับสนุนการจัดตั้งตลาดกลางผลไม้คุณภาพสูงในพื้นที่อีอีซี (EEC) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ปตท.ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี (LNG) ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม หรือ Air Separation Unit(ASU) ร่วมกับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี (BIG) ก๊าซอุตสาหกรรมชนิดต่างๆ ประกอบด้วย ไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์   ที่มีความต้องการ และขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ใช้เงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท กำลังผลิตประมาณ 450,000 ตันต่อปี  คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564 นับเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC)

โครงการ Air Separation Unit หรือ ASU  เป็นหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ในการนำพลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากกระบวนการเปลี่ยนสถานะของแอลเอ็นจี (LNG) จากของเหลวไปเป็นก๊าซมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันพลังงานความเย็นนี้ถูกปล่อยไปกับน้ำทะเลจำนวนมาก   ปตท. จึงได้ศึกษาร่วมกับ บีไอจี (BIG) ซึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมครบวงจรของประเทศไทยมายาวนานกว่า 30 ปี  ถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้ รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก28,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยน้ำเย็นของธุรกิจแอลเอ็นจีของ ปตท.  หรือ PTTLNG  ลงสู่ทะเลถึง  2,500 ตันต่อชั่วโมง

- Advertisment -

ซึ่งจากการศึกษาร่วมกันพบว่า มีความเป็นไปได้ทั้งด้านเทคนิค และความคุ้มค่าต่อการลงทุนในเชิงพาณิชย์ จึงเกิดการร่วมทุนระหว่าง 2 องค์กรเพื่อจัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้นมา เพื่อตอบรับการขยายตัวอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด”เป็นการ สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล

ด้านนายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้ บีไอจี (BIG) ถือหุ้นในสัดส่วน 49% และ ปตท. ร่วมกับบริษัทในเครือ ปตท. ถือหุ้น 51% เป็นการรวมศักยภาพของทั้ง 2 องค์กร โดย บีไอจี (BIG) มีความรู้ความชำนาญในด้านเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม และการตลาดก๊าซอุตสาหกรรม ในขณะที่ ปตท. มีความรู้ความชำนาญในการบริหารจัดการด้านพลังงานกว่า 40 ปี ซึ่งโครงการหน่วยแยกอากาศที่ดำเนินการในครั้งนี้จะใช้เทคโนโลยีและมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก จากบริษัทแอร์โปรดักส์ (Air Products and Chemicals, Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบีไอจี (BIG) และเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนี้

โครงการลงทุนดังกล่าว ช่วยตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ อีเอฟซี (EFC) สนับสนุนการจัดตั้งตลาดกลางผลไม้คุณภาพสูงในพื้นที่อีอีซี (EEC) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ การร่วมมือกันระหว่างบีไอจี (BIG) และ ปตท. ในครั้งนี้ จะสามารถนำไนโตรเจนที่ผลิตได้จากโครงการไปต่อยอดนวัตกรรมในการรักษาคุณภาพความสดใหม่ของผลไม้ก่อนที่จะนำไปเก็บในห้องเย็น ทำให้สามารถเก็บรักษาผลไม้ไว้ได้และมีคุณภาพที่ดีขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรและมุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้โลก

Advertisment

- Advertisment -.