ปตท.นำร่องตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพอัจฉริยะ ในปั๊มน้ำมัน

- Advertisment-

ปตท. ร่วมกับ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Preventive Healthcare)  ในสถานีบริการน้ำมัน  พีทีที สเตชั่น  เพื่อสนองพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับความรู้และการรักษาพยาบาลโดยทั่วถึงและเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10   โดยจะมีโครงการนำร่อง ในสถานีบริการน้ำมัน    พีทีที สเตชั่น สาขา ต.สระขวัญ จ.สระแก้ว  และ  สาขา หจก. แสนอุดม อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี 

วันนี้ (23 เมษายน 2562) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก   เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข   นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต  ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายพัฒนเศรษฐ์ จังคศิริ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  ร่วมใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การให้บริการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Preventive Healthcare)  ในสถานีบริการน้ำมัน  พีทีที สเตชั่น ระหว่าง มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสนองพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับความรู้และการรักษาพยาบาลโดยทั่วถึง

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  กล่าวว่า มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพอัจฉริยะ (Smart Preventive Healthcare Unit) ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้ทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งมาดปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทย ที่ต้องการเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน

- Advertisment -

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล  สกลสัตยาทร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งทุกแห่งได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระบบ ISO 9002 และ HA มี 2 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล JCI คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น ทำให้มีผู้มารับบริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งในพื้นที่รับผิดชอบ พื้นที่ใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน

ในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพอัจฉริยะในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น มูลนิธิฯ และกระทรวงสาธารณสุข จะสนับสนุนบุคลากรจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชประจำที่ศูนย์ฯ และเชื่อมต่อระบบไอทีในการจองคิวแพทย์และการรับยาด้วยแอปพลิเคชัน ประชาชนเข้าถึงบริการรวดเร็วขึ้น ลดความแออัดผู้รับบริการในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในปีนี้จะนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบแห่งแรกที่สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น สาขา ต.สระขวัญ จ.สระแก้ว แห่งที่ 2 ที่ พีทีที สเตชั่น หจก. แสนอุดม อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาองค์กร ให้มีการปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความก้าวหน้าด้านดิจิทัล ตลอดจนนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กลับคืนสู่สังคม  ซึ่งนอกไปจากการเป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ด้านพลังงานแล้วนั้น  เรายังเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน  อาทิ  การตรวจเช็คร่างกายเบื้องต้น โดยอุปกรณ์ที่ทันสมัย แล้วส่งผลการตรวจวิเคราะห์เข้าระบบประมวลผลและเชื่อมโยงข้อมูลจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล  รวมทั้งสามารถนัดหมายพบแพทย์และการรับยาจากระบบ Application บนโทรศัพท์มือถือ  ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการรอพบแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น และยังถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลในการดูแลประชาชนเบื้องต้น ได้อีกด้วย

ปตท. หวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล  ได้เข้ามาใช้บริการตรวจเช็คสุขภาพเบื้องต้น ตลอดจนได้รับความรู้ด้านการดูแลตนเองที่ดี  รวมทั้งสามารถขยายผลการให้บริการได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

Advertisment

- Advertisment -.