ปตท. ชู “ต.กำแพง จ.ร้อยเอ็ด” ต้นแบบชุมชนคาร์บอนเหลือศูนย์ เพื่อลดโลกร้อน

- Advertisment-

สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ร่วมกับ อาศรมพลังงานวิสาหกิจเพื่อสังคม และชาวบ้านตำบลกำแพง อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดตัว “โครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์” ด้วยการใช้ประโยชน์จากถ่านไบโอชาร์ มาช่วยปรับปรุงคุณภาพดินที่เสื่อมโทรมในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ในพื้นที่ปลูกป่าของ ปตท. เพื่อเป็นต้นแบบของการลดโลกร้อน

นายชาญชัย ลิมปิยากร ผู้อำนวยการอาศรมพลังงานวิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า ”โครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์” หรือ Zero Carbon Community เป็นความร่วมมือระหว่างอาศรมพลังงานฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิพลังที่ยั่งยืนของกลุ่ม ปตท. บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. เริ่มงานวิจัยในพื้นที่ ต.กำแพง อ.เกษตรพิสัย จ.ร้อยเอ็ด ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของชุมชนในตำบล อันมีผลต่อภาวะโลกร้อน แล้วนำข้อมูลมาวางแผนในการกักเก็บคาร์บอนลงดิน เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสัดส่วนการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์กับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของชุมชนต้องลดต่ำลงจนเหลือศูนย์

- Advertisment -

กิจกรรมหลักที่นำไปสู่การกักเก็บคาร์บอน คือการนำเอาเศษไม้จากต้นยูคาลิปตัสที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ มาผลิตเป็นถ่านไบโอชาร์ จากนั้นนำไปผสมกับเศษวัสดุการเกษตรในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้วยการบดถ่านให้ละเอียดคลุกกับมูลสัตว์และเศษวัสดุการเกษตร หมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ถ่านไบโอชาร์ เพื่อช่วยให้การเจริญเติบโตของต้นไม้ดีขึ้น

ทั้งนี้ พื้นที่ ต.กำแพง เป็นเขตที่อยู่ในแผนการปลูกป่าของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ประมาณ 2,000 ไร่ มาหลายปี แต่สภาพอากาศที่แห้งแล้งมากของบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ที่ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ประกอบกับสภาพดินที่ขาดธาตุสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับต้นไม้ การปลูกป่าจึงไม่ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการ ดังนั้น งานวิจัยนี้จะช่วยเปรียบเทียบกับการปรับปรุงคุณภาพดินจากการใช้ถ่านไบโอชาร์ กับการปลูกแบบเดิม ซึ่งนอกจากจะได้องค์ความรู้ใหม่ ยังช่วยกักเก็บคาร์บอนลงดิน รวมทั้งผลพลอยได้จากการทำเตาเผาถ่าน จะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง คาดว่าจะทราบผลสำเร็จของการวิจัยนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปี จากนั้นจะขยายงานต่อไป

Advertisment