จริงหรือ?เร่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเร็วไป ค่าไฟจะแพง

- Advertisment-

ต้องยอมรับว่า พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy นั้นเป็นกระแสหลักที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งรวมถึงประเทศสเปนและโปรตุเกส ที่กฟผ.พาสื่อมวลชนหลายสำนักไปดูงานเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้ความสำคัญและมีแนวนโยบายชัดเจนว่าในอนาคตข้างหน้าประเทศเหล่านี้จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยต่างกำลังมีการพัฒนาระบบ และเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขจุดอ่อน  ที่เป็นอุปสรรค ให้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สามารถที่จะผลิตไฟป้อนความต้องการได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่เป็นภาระต่อระบบผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ  และไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC)มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปกับคณะของ กฟผ.นำโดย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.และนายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง ซึ่งได้ดูงานที่ สเปน ในโครงการ  La Plana Hybrid Prototype and Test Plant  ที่เมือง Zaragoza  ซึ่งเป็นโครงการสาธิตการผสมผสานเอาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม  เครื่องปั่นไฟฟ้าจากดีเซล ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เข้าไว้ด้วยกัน และสั่งการผลิตไฟฟ้าด้วย ศูนย์ควบคุม ที่เรียกว่า Hybrid  Plant Controller หรือ HPC   และโรงไฟฟ้าZabalgarbi Waste-to-Energy  ที่เมืองBilbao   ที่มีเทคโนโลยีเฉพาะในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ผสมผสานกับโรงไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ

ที่โปรตุเกส ที่โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ณ เขื่อน Alto Rabagao เมือง Montalegre  ของ บริษัท EDP (Energias de Portugal) ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบไฮบริดระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) กับพลังน้ำ  และ ที่ศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ real time ของบริษัท EDP Renewables (EDPR) ที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท EDP  และเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของEDP   ก็พอจะได้คำตอบว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้มีเทคโนโลยี่ด้านพลังงานหมุนเวียนของตัวเอง หากรัฐบาลมีนโยบายเร่งส่งเสริมการลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเร็วเกินไปและในสัดส่วนที่สูงจนเกินไป โดยที่การพัฒนาเทคโนโลยี่ที่จะมาตอบโจทย์ความไม่เสถียรของระบบ ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็จะยังสูงและประชาชนผู้ใช้ไฟ จะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าในที่สุด

- Advertisment -

ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขที่ประชาชนรับภาระค่าไฟฟ้าในรูปของค่าเอฟที จากการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของไทย ทั้งแบบ การให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า(Adder) และการให้ตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff-FiT)ของไทย สะสมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสูงถึงประมาณ 1.7แสนล้านบาท แล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก

การดูงานที่สเปน ที่โครงการ  La Plana Hybrid Prototype and Test Plant  ที่เมือง Zaragoza

การดูงานที่สเปน ที่โครงการ  La Plana Hybrid Prototype and Test Plant  ที่เมือง Zaragoza ทำให้ได้ข้อสรุปว่า บริษัทSiemens ของเยอรมันซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีกังหันลม  ที่มาร่วมกิจการ กับบริษัท Gamesa ของสเปน และเป็นเจ้าของโครงการ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบระบบไฮบริดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้ากับเครื่องยนต์ดีเซล และระบบแบตเตอรี่ลิเธียม ไออ้อน  เพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบมีต้นทุนที่ต่ำและคุณภาพของไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบมีความสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยียังไม่ถึงขั้นเป็นเชิงพาณิชย์   ดังนั้นแนวทางของประเทศไทย จึงยังควรอยู่ในขั้นของการติดตามเทคโนโลยี หรือส่งเสริมในลักษณะของโครงการนำร่อง พลังงานหมุนเวียนในรูปไฮบริดไปก่อน อย่าเพิ่งทุ่มสุดตัว เพราะต้นทุนยังสูง 

เช่นเดียวกับ การดูงานโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ณ เขื่อน Alto Rabagao เมือง Montalegre  ของ บริษัทEDP (Energias de Portugal) ที่เป็นระบบไฮบริดระหว่างพลังงานน้ำจากเขื่อนและโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำยังคงเป็นสเกลทดสอบขนาดเล็ก   ซึ่ง กฟผ.เองก็อยู่ระหว่างนำไปขยายผลดำเนินการที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45เมกะวัตต์

การดูงานโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ณ เขื่อน Alto Rabagao เมือง Montalegre  ของ บริษัทEDP

การที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งโซลาร์เซลล์ และพลังงานลม ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความไม่เสถียรและต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังสูง ทำให้ต้องมีการลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อแบคอัพให้กับระบบ โดยทั้งสเปนและโปรตุเกส โชคดี ที่มีการเชื่อมโยงสายส่งกับประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป ที่มีทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ มาช่วยเสริมความมั่นคงให้  แต่ถึงกระนั้น กำลังผลิตไฟฟ้าในประเทศดังกล่าวก็ยังจะต้องมีสัดส่วนที่สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าหลายเท่า  ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในครัวเรือนของสเปน อยู่ที่ 9.61บาทต่อหน่วย ส่วนของ โปรตุเกส อยู่ที่ 8.89 บาทต่อหน่วย (อ้างอิงจากENSOE2018) สูงกว่าไทย ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3.63 บาทต่อหน่วย เพราะการผลิตไฟฟ้าของไทยยังเน้นไปที่เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าพลังน้ำจากสปป.ลาว ในสัดส่วนประมาณ70% ที่ยังมีต้นทุนต่ำกว่า ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ real time ของบริษัท EDP Renewables (EDPR)

โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของทั้งสเปนและโปรตุเกสเป็นระบบพาวเวอร์พูล เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป คือ ผู้ผลิตต้องประมูลแข่งขันราคากันเพื่อขายไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าที่เสนอราคาต่ำสุดจะถูกสั่งให้เดินเครื่อง  ซึ่งแตกต่างจากระบบของไทย ที่ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียวและทำสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิต  แต่ การเป็นระบบพาวเวอร์พูล ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยบ่งชี้ ที่เป็นข้อสรุปว่าถ้าไทย ใช้ระบบพาวเวอร์พูลแบบเดียวกันแล้วจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำลงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

EDPโปรตุเกส ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือบริษัทไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ชื่อThree Gorges จากจีน

อย่างไรก็ตามการที่ EDPของโปรตุเกส (ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือบริษัทไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ชื่อThree Gorges จากจีน )มีกำลังผลิตรวม 27,000 เมกะวัตต์ (เป็นพลังงานหมุนเวียน 21,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยพลังงานลมและแสงอาทิตย์ 55% และน้ำ 45%) ยังประกาศนโยบายที่จะพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งลมและแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นต่อไป โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2030 (พ.ศ.2573)จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ในสัดส่วน 90% และการประกาศเลิกใช้ถ่านหิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  โดยมองว่า ไฟฟ้าคือพลังงานแห่งอนาคต และบริษัทต้อง พัฒนาเทคโนโลยีให้พลังงานหมุนเวียนราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย  ถือเป็นเรื่องดีที่การดูงานของคณะกฟผ.และสื่อมวลชนของไทย จะได้มองเห็นแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าว่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะยังทวีความสำคัญและเป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าล่าสุด หรือPDP2018 ก็กำหนดสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้สูงถึงประมาณ12,750เมกะวัตต์ หรือประมาณ25% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ  ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของโลก แต่ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายนโยบายควรตระหนักถึงคือจังหวะและปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงต้นทุนและภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องช่วยแบกรับ  เพราะถ้าโหมเร่งส่งเสริมลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เร็วเกินไป ในสัดส่วนที่สูงเกินไป ก็ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์เหมือนประเทศเจ้าของเทคโนโลยี  แถมภาระสะสมที่ประชาชนจะต้องแบกรับค่าไฟฟ้าอาจจะทะลุเป้า จากปัจจุบัน 1.7แสนล้านบาทเป็นหลักหลายแสนล้านบาท อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisment

- Advertisment -.