ครม. เห็นชอบตั้ง “กีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์” เป็นผู้ว่าฯ กฟน. คนใหม่

- Advertisment-

ครม. มีมติแต่งตั้ง “นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์” ขึ้นเป็นผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คนที่ 17 ท่ามกลางยุคการเปลี่ยนผ่านระบบธุรกิจไฟฟ้า เร่งเดินหน้า โครงการ National Energy Trading Platform (NETP) ให้เสร็จปี 2562 รองรับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Block Chain) ในอนาคต

วันนี้ (16 ต.ค. 2561) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คนที่ 17 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ (บอร์ด) กฟน. ที่ผ่านมา เพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนนายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ที่หมดวาระงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2561

สำหรับนายกีรพัฒน์ ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการวิชาการและบริหารพัสดุ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการ สายวิชาการและบริหารพัสดุ เคยเป็นผู้อำนวยการไฟฟ้าเขตบางใหญ่ รองผู้อำนวยการไฟฟ้าเขตสามเสน และรองผู้อำนวยการไฟฟ้าเขตคลองเตย ปัจจุบันอายุ 57 ปี เกิดเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2504  จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ ยังได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 16 สถาบันพระปกเกล้า

- Advertisment -

ผลงานที่ผ่านมา เคยดำรงตำแหน่งคณะทำงานแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน (พ.ศ. 2559-2566)  รวมทั้งยังเป็นคณะกรรมการแผนแม่บทโครงข่ายสมาร์ทกริด (พ.ศ. 2559-2564) คณะทำงานตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ประธานคณะทำงานแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (พ.ศ. 2561-2564) ทีมที่ปรึกษาในการพัฒนาระบบจำหน่ายในกลุ่มประเทศอินโดจีน  เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกีรพัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์กับ ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center-ENC ถึงแผนงานที่ต้องดำเนินการต่อจากนี้คือ การเดินหน้างานที่ 3 การไฟฟ้า(กฟน., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ในโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ และจัดทำแผนที่นำทางแพลตฟอร์มดิจิทัลการไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ โครงการ National Energy Trading Platform (NETP) ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการดังกล่าวแล้ว คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2562 เพื่อรองรับทิศทางการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างเอกชนในอนาคต ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Block Chain)

พร้อมกันนี้มองว่าการบริหารงานของ กฟน. ต่อจากนี้จะต้องปรับตัวมากขึ้น เพราะทิศทางการซื้อขายไฟฟ้ากันเองเริ่มเติบโตมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของ กฟน.  เนื่องจาก กฟน. เป็นเพียงผู้จำหน่ายไฟฟ้า ไม่ใช่ผู้ผลิต ดังนั้นหากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ กฟน. สามารถจัดซื้อไฟฟ้าจากประชาชนผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ได้ จะมีส่วนช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าที่ซื้อมาเพื่อจำหน่าย ถูกลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า  กฟน.ยังมีรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการสายส่งไฟฟ้าต่อไป

Advertisment