พลังงาน สำรวจแล้ว”ปาบึก”ไม่กระทบแท่นผลิต ยันเริ่มผลิตก๊าซได้6ม.ค.นี้ตามแผน

- Advertisment-

กระทรวงพลังงานออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4/2562 แจ้งสถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก”ในทะเลอ่าวไทยคลี่คลายแล้ว แท่นผลิตปิโตรเลียมเริ่มผลิตก๊าซได้ 6ม.ค.2562 นี้  ในขณะที่ กฟผ. ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ 1,000 ชุด และน้ำดื่ม 6,000 ขวด แก่ผู้ประสบภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชแล้ว พร้อมส่งทีมกู้วิกฤตระบบสื่อสารและเครื่องสูบน้ำ กว่า 70 ตัว เสริมทีมกู้ภัยเฉพาะกิจ กฟผ. เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า กระทรวงพลังงานได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 เวลา 16.00 น. โดยแจ้งถึงความคืบหน้าสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ต่อการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ว่าขณะนี้ สถานการณ์ในส่วนของการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยถือว่าได้คลี่คลายแล้วและ บริษัทผู้ประกอบกิจการพลังงานได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจอุปกรณ์บนทุกแท่นผลิตปิโตรเลียมและเร่งดำเนินการให้สามารถกลับมาผลิตปิโตรเลียมเพื่อรองรับการใช้ของประชาชน รายละเอียดการดำเนินการมีดังนี้

ด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากการเข้าตรวจสอบ พบว่า ไม่มีอะไรเสียหาย สามารถกลับมาผลิต     ก๊าซธรรมชาติได้ในวันที่ 6 มกราคม 2562 และจะสามารถผลิตได้อย่างเต็มที่ วันที่ 7 มกราคม 2562

- Advertisment -

ด้านไฟฟ้า ในส่วนของโรงไฟฟ้าไม่มีความเสียหายและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม​แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด จะได้เตรียมความพร้อมใน  การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ร่วมกับรัฐบาล อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ต่อไป

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก  ในวันนี้ กฟผ. ได้เข้าพื้นที่นำถุงยังชีพ 1,000 ชุด และน้ำดื่ม 6,000 ขวด ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชแล้ว พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ที่จำเป็น ประกอบด้วย เครื่องดูดโคลน (Screw Pump) จำนวน 1 เครื่อง  เครื่องสูบน้ำดีเซล จำนวน 60 ตัว และเครื่องสูบน้ำชนิดจุ่มใต้น้ำ (Submerged Pump) จำนวน 16 ตัว เสริมทีมกู้ภัยเฉพาะกิจ กฟผ. ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย  นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมทีมกู้วิกฤตระบบสื่อสาร เข้าประจำการ ณ กฟผ.สำนักงานบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดเหตุขัดข้องกับระบบสื่อสาร กฟผ. ด้วย

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง ปัจจุบันปริมาณน้ำยังอยู่ในระดับการควบคุม โดยเขื่อนรัชชประภา  มีปริมาณน้ำ คิดเป็นร้อยละ 83.22 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 945.95 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำ คิดเป็นร้อยละ 75.63 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 354.36 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ม.ค. 62 เวลา 14.00 น.)  ปัจจุบันเขื่อนทั้งสองแห่ง ยังคงหยุดเดินเครื่อง เพื่อบรรเทาสถานการณ์ระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นบริเวณท้ายเขื่อน

Advertisment