กฟผ.แจงยืดหยุ่นปริมาณนำเข้าLNGได้ ไร้ปัญหาค่าปรับTake or Pay และค่าไฟไม่แพงขึ้น

- Advertisment-

กฟผ. แจง การนำเข้าแอลเอ็นจี มีความยืดหยุ่น ที่สามารถปรับลดปริมาณตั้งแต่ 0.8 -1.5 ล้านตันต่อปี  ที่จะไม่มีปัญหาค่าปรับตามสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay พร้อมระบุผู้เสนอราคาต่ำสุดในการประมูล มีราคาถูกกว่าราคาต่ำสุดของสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศในปัจจุบัน ที่จะไม่ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

เมื่อวันที่27 ส.ค.2562 นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมาชี้แจงประเด็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของ กฟผ. ในปริมาณไม่เกิน  1.5ล้านตันต่อปี และได้มีการเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดในการจัดหาแอลเอ็นจีให้กับ กฟผ. ได้แล้ว  ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ที่ผ่านมาว่า การนำเข้าแอลเอ็นจี ดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติในการเปิดเสรีแก่บุคคลที่สาม โดย  กพช.มอบหมายให้ กฟผ. นำร่องเป็นผู้จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจีไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และสามารถที่จะได้ผู้เสนอราคาแอลเอ็นจีที่มีราคาถูกกว่าราคาต่ำสุดของสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศ ที่มีอยู่ ในขณะนี้   ซึ่งหากนำไปเฉลี่ยรวมกับก๊าซธรรมชาติจาก อ่าวไทยและเมียนมา ก็จะมีราคาที่ถูกลง กว่าที่ใช้ในระบบในปัจจุบัน

ส่วนความกังวลว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ. จะทำให้เกิดปัญหาค่าปรับตามสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay นั้น กฟผ. มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหา เนื่องจาก กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดค่า Take or Pay โดยสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีของ กฟผ. มีความยืดหยุ่น สามารถปรับลดปริมาณการนำเข้า โดยกำหนดปริมาณไว้ระหว่าง 0.8 -1.5 ล้านตันต่อปี อีกทั้ง กฟผ. ได้เจรจากับบริษัทคู่สัญญาให้ดำเนินการขายแอลเอ็นจีส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับรายอื่นแทน กฟผ. ต่อไป

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC)  รายงานว่า  PETRONAS LNG Limited จากมาเลเซียเสนอราคาต่ำสุดเหนือคู่แข่งที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการค้าLNG อีก11ราย  และมีการรายงานต่อบอร์ด กฟผ.ให้เห็นชอบตั้งแต่วันที่14พ.ค. 2562  โดยแผนเดิมคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมาและเริ่มนำเข้าล็อตแรก จำนวน 2.8 แสนตัน และในปี2563ต่อเนื่องไปจนถึงปี2568 จะนำเข้าในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายรัฐบาลคสช. ที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อปลายเดือน พ.ค.2562  นายศิริ ได้มีการหยิบข้อกังวลเรื่องที่อาจจะเกิดปัญหาค่าปรับตามสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay และให้ กฟผ.และปตท.หารือกัน  ทำให้ การลงนามในสัญญากับผู้ชนะคือ PETRONAS LNG Limited  ต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปจากแผนเดิม     ในขณะที่เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ได้เรียกผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทั้ง กฟผ. ปตท. และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มาหารือในประเด็นการนำเข้าแอลเอ็นจีในปริมาณ ไม่เกิน1.5 ล้านตันต่อปี  และให้โจทย์ กับที่ประชุมเพื่อจะ ตอบคำถามให้ได้ว่า  ไทยจะสามารถสร้างความเข้มแข็งและเป็นผู้นำในเรื่องแอลเอ็นจี ในภูมิภาคนี้ ได้อย่างไร  จากที่ผ่านมา ที่รัฐพยายามที่จะสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับ ปตท.ในเรื่องนี้  และให้กฟผ.จัดทำรายละเอียดเสนอกลับมาให้กระทรวงพลังงานพิจารณา ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 นี้ ก่อนที่จะพิจารณาต่อไปว่า จะให้ กฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจี  ในปริมาณไม่เกิน1.5 ล้านตันต่อปี หรือไม่อย่างไร   พร้อมทั้งยืนยันในหลักการของการนำเข้าแอลเอ็นจี ของกฟผ. ว่าจะต้องไม่กระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟทีกับผู้บริโภค

Advertisment

- Advertisment -.