กฟผ.หมดสิทธิ์เป็นตัวแทนรัฐถือหุ้น 25% ในแหล่งเอราวัณ บงกช

- Advertisment-

คณะกรรมการปิโตรเลียม คัดกรองรายชื่อหน่วยงานรัฐที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% ในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชแล้ว เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบด้วย ปตท. ปตท.สผ. กองทุนวายุภักษ์ และกรมการพลังงานทหาร ในขณะที่ กฟผ. ตกเกณฑ์คุณสมบัติ เพราะผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ตาม พ.ร.บ. กฟผ.

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน  เปิดเผยถึง ประเด็นการพิจารณาคัดเลือกหน่วยงานของรัฐเข้าถือหุ้นในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ในสัดส่วนไม่เกิน 25% ว่า ทางคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณากลั่นกรองหน่วยงานที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขทีโออาร์ที่กำหนด เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด(มหาชน) ซึ่งถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน นอกจากนั้น ยังมี กองทุนวายุภักษ์ ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และ กรมการพลังงานทหาร ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม  ในขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น ถึงแม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าวัตถุประสงค์การจัดตั้ง กฟผ. ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. กฟผ. ไม่เปิดโอกาสให้ กฟผ.เข้าไปลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งอยู่นอกเหนือกิจการผลิตไฟฟ้า จึงไม่สามารถนำเสนอเป็นหนึ่งในรายชื่อที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาได้

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกหน่วยงานตามที่คณะกรรมการปิโตรเลียมมีข้อเสนอ โดย ครม. อาจจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐขึ้นมาร่วมลงทุนเป็นการเฉพาะ หรือไม่ส่งหน่วยงานใดเข้าไปร่วมลงทุนเลยก็ได้ รวมทั้งสัดส่วนการเข้าร่วมทุน ครม.ก็สามารถที่จะกำหนดได้ตั้งแต่ 0-25% แต่จะต้องพิจารณาถึงงบลงทุนจำนวนมากที่จะใช้ในการลงทุน เช่นเดียวกับเอกชนที่ชนะการประมูลที่จะเป็นโอเปอเรเตอร์ในแหล่งเอราวัณ และบงกช

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy  News Center –ENC) รายงานว่า  เงื่อนไขการประมูลเกี่ยวกับสัดส่วนหน่วยงานรัฐ 25% ที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยไม่ได้ระบุถึงเหตุผลและรายละเอียดที่ชัดเจนถึงความจำเป็นที่ต้องมีเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในทีโออาร์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลได้รับทราบ

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้แจ้งยกเลิกแถลงข่าวความคืบหน้าการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ บงกช ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ (4 ธ.ค. 2561) หลังคณะรัฐมนตรี มีวาระอื่นๆพิจารณาจำนวนมาก จนไม่สามารถแทรกการพิจารณาเรื่องการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชเป็นวาระจรได้  แหล่งข่าวคาดว่าจะเสนอเป็นวาระพิจารณาปกติได้ 18 ธ.ค.หรือ 25 ธ.ค.นี้ ซึ่งยังตรงตามแผนที่วางเอาไว้ว่าจะรู้ผลผู้ชนะการประมูลภายในสิ้นปี 2561

Advertisment

- Advertisment -.