กฟผ. คว้า 6 รางวัลนักประดิษฐ์ จากเวทีประกวดของสมาพันธรัฐสวิส

- Advertisment-

ทีมนักประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 6 รางวัล จากเวที “47th International Exhibition of Inventions Geneva” นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส อาทิ ผลงานอุปกรณ์ควบคุมอเนกประสงค์แบบโปรแกรมได้ และยานสำรวจใต้น้ำ โดยเป็นผลงานที่สร้างประโยชน์กับทั้ง กฟผ. สังคมและชุมชน รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าให้ประเทศ ตามวิสัยทัศน์ นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ กฟผ. ได้นำผลงานการประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 4 ผลงาน เข้าร่วมประกวดในเวที “47th International Exhibition of Inventions Geneva” ระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และสามารถคว้ารางวัลรวม 6 รางวัล ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง 1 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน 3 รางวัล และรางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 รางวัล และไต้หวัน 1 รางวัล

สำหรับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษ จากหน่วยงาน International Strategic Technology Alliance สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ผลงานอุปกรณ์ควบคุมอเนกประสงค์แบบโปรแกรมได้ (EGAT-Universal Controller (EGAT-UNICON)) จากฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า ซึ่งพัฒนาอุปกรณ์ควบคุมขนาดเล็กที่สามารถเขียนโปรแกรมได้ มีฟังก์ชันการทำงานเทียบเท่าอุปกรณ์ควบคุม (Programmable Logic Controller, PLC) โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอุปกรณ์ PLC ถึง 10 เท่า สามารถใช้งานทดแทนอุปกรณ์ PLC แก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท และมีแผนจะใช้งานในโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีก 14 ยูนิต ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 15 ล้านบาทต่อปี

- Advertisment -

รางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษ จากหน่วยงาน Taiwan Invention Association ของไต้หวัน ได้แก่ ผลงาน เอ็ม ซี อาร์ ยานสำรวจใต้น้ำ (MCR Underwater Surveyor) จากสังกัดโครงการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งพัฒนาอุปกรณ์สำรวจใต้น้ำขนาดเล็กที่ควบคุมด้วยรีโมท เพื่อใช้สำรวจสภาพตะกอนใต้น้ำในระบบผลิตน้ำของโรงไฟฟ้าราชบุรี ทดแทนวิธีการเดิมที่ต้องหยุดระบบเพื่อให้นักประดาน้ำสำรวจ มีต้นทุนการสร้างเพียง 30,000 บาท สามารถลดค่าใช้จ่ายในการสำรวจกว่า 100,000 บาทต่อปี

ส่วนรางวัลเหรียญเงิน จากผลงาน ระบบรวบรวมจัดเก็บข้อมูลหม้อแปลงไฟฟ้าแบบออนไลน์และมอนิเตอร์ริ่ง (Real-time Transformer Monitoring & Diagnostic System) จากฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน และฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ระบบส่ง เป็นการพัฒนาระบบ Transformer On-line Monitoring มาช่วยตรวจสอบสภาพของหม้อแปลงได้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องปลดหม้อแปลง อีกทั้งสามารถแจ้งเตือนก่อนที่หม้อแปลงจะเกิดความเสียหายได้โดยอัตโนมัติ ช่วยจัดการแผนการบำรุงรักษาหม้อแปลงได้อย่างเหมาะสมและลดต้นทุนการบำรุงรักษา ปัจจุบันติดตั้งให้กับหม้อแปลง 500 kV แล้ว 3 เครื่อง และพร้อมขยายผลรวมทั้งสิ้น 87 เครื่อง

และจากผลงาน ชุดตรวจสอบการลัดวงจรในโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator Rotor Short-Turn Detector) จาก ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการลัดวงจรในโรเตอร์ที่จะสร้างความเสียหายแก่เครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงได้พัฒนาชุดตรวจสอบดังกล่าว ทดแทนวิธีการเดิมที่ต้องถอดเข้าถอดออกอุปกรณ์ ซึ่งยุ่งยากและใช้เวลานาน โดยชุดตรวจสอบทำให้สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงลดค่าสูญเสียโอกาสในการขายไฟ คิดเป็นมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท ปัจจุบัน ได้ติดตั้งใช้งานชุดตรวจสอบแล้วกว่า 11 เครื่อง

Advertisment