กกพ. ใช้เงิน 9,000 ล้านบาท ตรึงค่าไฟฟ้าอีก 4 เดือน

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติใช้เงิน 9,000 ล้านบาท ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2562 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยยังคงอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย หลังต้นทุนผลิตไฟฟ้าเป็นช่วงขาขึ้นและยังผันผวน เพื่อลดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนสถานการณ์การค้าโลก

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้คงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2562 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไม่เปลี่ยนแปลงจากงวดก่อน แม้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขี้นและกดดันต่อค่าเอฟที โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 9,000 ล้านบาท บริหารจัดการเพื่อรักษาค่าเอฟทีให้อยู่ในระดับเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งนำเงินมาจากการกำกับประสิทธิภาพการดำเนินงานของการไฟฟ้า ในปี 2561 จำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นความร่วมมือกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อช่วยรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงแทนประชาชนไปชั่วคราวก่อน

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการค่าเอฟทีดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าอยู่ที่ 31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลงกว่าช่วงที่ประมาณการในงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 62 ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 4 เดือนอยู่ที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคมนี้ เท่ากับ 64,416 ล้านหน่วย ปรับตัวลดลงจากช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม เท่ากับ 3,966 ล้านหน่วย คิดเป็นร้อยละ 5.80 ตามสภาพความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงเนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปี

- Advertisment -
ตารางแสดงแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังประเมินสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน 4 สุดท้ายของปีนี้ (ก.ย. – ธ.ค. 62) ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 55.78 รองลงมาเป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 18.91 ลิกไนต์ ร้อยละ 8.79 และถ่านหินนำเข้า ร้อยละ 7.93 ขณะที่ แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 62 คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 305.20 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 23.75 บาทต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,739 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,643 บาทต่อตัน เท่ากับ 96.18 บาทต่อตัน ราคาน้ำมันดีเซล (กฟผ.) อยู่ที่ 25.13 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน -0.64 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

“การที่ กกพ. คงค่าเอฟทีต่ออีก 4 เดือน โดยจะใช้แนวทางการบริหารจัดการเพื่อรักษาค่าเอฟทีให้อยู่ในระดับเดิม แม้ต้นทุนหลัก ๆ ในการผลิตไฟฟ้าจะเป็นขาขึ้น และยังมีความผันผวน เพราะไม่ต้องการให้ปัจจัยค่าไฟฟ้ามาส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ภาวะการส่งออกของประเทศชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก” นางสาวนฤภัทร กล่าว

 

Advertisment