ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
- Advertisment-

ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle – EV) ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีการใช้รถยนต์ EV ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยจากข้อมูลใน Global Electric Vehicle Outlook 2018 ของ International Energy Agency (IEA) ระบุว่าปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าและ Plug-in hybrid ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน มีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคันทั่วโลกในปี 2560 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จากปัจจัยเร่งที่สำคัญ คือ เป็นยานยนต์ที่กำลังมาทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ช่วยลดมลภาวะให้กับโลก และประหยัดค่าน้ำมัน

สำหรับประเทศไทย ได้วางเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ EV ให้ได้ 1.2 ล้านคันในปี 2579 ดังนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  จึงต้องเร่งวางกติกาและมาตรฐานต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถ EV ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

ปัจจุบัน กกพ. ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีศึกษาแนวโน้มธุรกิจที่จะเกิดขึ้นที่เกี่ยวกับรถยนต์EV เพื่อกำหนดรูปแบบกิจการที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสมกับไทย เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่รถ EV และธุรกิจสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station ) เป็นต้น นอกจากนี้ กกพ. จะต้องเตรียมความพร้อมด้านการออกใบอนุญาตต่างๆ การกำหนดราคาค่าชาร์จไฟฟ้า ทั้งตามสถานีชาร์จไฟฟ้า และการชาร์จตามบ้านเรือน อีกทั้งยังต้องเตรียมความพร้อมด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ EV ในอนาคต และความมั่นคงไฟฟ้าในประเทศด้วย

- Advertisment -

สำหรับการตั้งเป้าหมายส่งเสริมการใช้รถ EV ในประเทศไทย 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 รัฐบาลได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559 – 2560 เป็นขั้นของการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายการขออนุญาตและการสนับสนุนการวิจัยเรื่องแบตเตอรี่ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสถานีชาร์จไฟฟ้า และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ระยะที่ 2 ปี 2561 – 2563 ดำเนินการเชิงวิจัยอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสมรรถนะแบตเตอรี่ มอเตอร์ รวมทั้งเพิ่มจำนวนรถและจุด Charging Station ให้เพียงพอ

ระยะที่ 3 ปี 2564 – 2578 เป็นช่วงขยายผลการศึกษาให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และ

ระยะสุดท้ายระยะที่ 4 ปี 2579 เป็นต้นไป คาดหวังว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถน้ำมันได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม กกพ. กำลังศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าถาวรเพื่อรองรับการชาร์จรถ EV ในอนาคต ซึ่งเป็นการศึกษารวมอยู่ในการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะประกาศใช้จริงในปี 2562 นี้ แต่ปัจจุบันยังคงใช้ตามอัตราที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยคำนวณตามช่วงเวลาการใช้ (Time of Use Rate : TOU) แบ่งเป็นการชาร์จไฟฟ้าช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) ระหว่างเวลา 9.00-22.00 น. คิดค่าไฟฟ้าอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้าที่ไม่ใช่ช่วง Peak (Off-Peak) ซึ่งเป็นหลังเวลา 22.00 น. ไปแล้ว และวันเสาร์-อาทิตย์ อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย เพื่อต้องการส่งเสริมให้รถ EV ชาร์จแบตเตอร์รี่ในช่วงกลางคืน จะได้ไม่ทำให้ Peak ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพิ่มขึ้น

ส่วนการเตรียมพร้อมด้านการออกใบอนุญาตสำหรับกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้านั้น กกพ. จะจัดแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 กรณีผู้ประกอบการมีการติดตั้งตู้อัดประจุไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 1,000 kVA ต้องดำเนินการยื่นจดแจ้งยกเว้นการขอใบอนุญาต

ประเภทที่ 2 กรณีผู้ประกอบการมีการติดตั้งตู้อัดประจุไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าขนาด 1,000 kVA ขึ้นไป ต้องดำเนินการยื่นขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน

ปัจจุบันประเทศไทยมีการทดลองใช้รถ EV ในหลายหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ทั้งประเภทรถเก๋งและรถบัส ซึ่งในอนาคตคาดการณ์ว่าความต้องการใช้รถ EV  ส่วนบุคคลจะเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับในต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศ เช่น นอร์เวย์มีการกำหนดใช้รถ EV 100% ในปี 2025 เยอรมนีและญี่ปุ่น ในปี 2030

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านกติกาต่างๆ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของ กกพ. ในวันนี้ เพื่อให้การใช้รถ EV ในไทยเติบโตอย่างมีระบบชัดเจนต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.