เปิดแล้ว โครงการพาราโบลาโดม ของ พพ. สมัครก่อนได้ก่อน

- Advertisment-

เปิดแล้วโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์(พาราโบลาโดม) ปี 2562 ภายใต้วงเงิน 12 ล้านบาท โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เริ่มรับสมัครตั้งแต่ 25 ก.ค.-6 ก.ย. 2562 ระบุสมัครก่อนได้พิจารณาก่อน ภายใต้เงื่อนไขรัฐให้การสนับสนุน 30% และเอกชนออกเอง 70% โดยเปิดให้เลือกระบบอบแห้ง 3 ขนาด ตั้งแต่ราคา 4แสน ถึง 1.2 ล้านบาท คาดหลังปิดรับสมัครจะใช้เวลา 1 เดือนคัดเลือกผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการ และจากนั้นจะเซ็นสัญญาให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนต่อไป

ยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดี พพ. (คนที่3จากซ้าย)

นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ปี 2562 โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.- 6 ก.ย.2562 นี้ ในวงเงินรวม 12 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2562 คาดว่าจะได้ผู้ร่วมโครงการประมาณ 40 ราย โดยใช้ระบบใครสมัครก่อนได้รับการพิจารณาก่อน

ทั้งนี้ พพ.จะให้การสนับสนุนวงเงินติดตั้งระบบอบแห้งฯ 30% และผู้ร่วมโครงการออกเอง 70% ของมูลค่าการลงทุนติดตั้ง ซึ่ง พพ.จะเปิดให้เลือกใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ 3 ขนาด ได้แก่ 1.ขนาดเนื้อที่ 50 ตารางเมตร วงเงินติดตั้งรวมประมาณ 4 แสนบาท  2.ขนาดเนื้อที่ 100 ตารางเมตร วงเงินติดตั้งรวมประมาณ 8 แสนบาท และ 3. ขนาดเนื้อที่ 166 ตารางเมตร วงเงินติดตั้งรวมประมาณ 1.2 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามผู้สมัครขอรับการสนับสนุนมีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุนได้ไม่เกิน 2 ระบบ แต่เบื้องต้นจะพิจารณาให้ 1 ระบบก่อนหากเงินเหลือจะพิจารณาให้ระบบที่ 2 ต่อไป โดยโครงการดังกล่าว พพ.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นนิติบุคคล,วิสาหกิจชุมชน รวมถึงภาคเอกชน ที่เคยดำเนินกิจการเกี่ยวกับการอบแห้งผลิตภัณฑ์มาก่อน เนื่องจากโครงการนี้จะเปรียบเทียบให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเมื่อใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แทนระบบเดิมที่เคยใช้ เช่น การตากแห้งจากแสงแดดโดยตรง หรือการใช้ก๊าซหุมต้ม(LPG) สร้างความร้อนในการอบแห้งผลิตภัณฑ์

- Advertisment -

โดยที่ผ่านมาพบว่า ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยให้ผลิตภัณฑ์เกิดความสะอาดมากขึ้น ใช้เวลาอบแห้งน้อยลง และลดการใช้ LPG สำหรับทำความร้อนได้มากขึ้น ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานและประหยัดต้นทุนให้เกษตรกรได้มากขึ้นด้วย  สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร่วมโครงการส่วนใหญ่นำไปอบแห้ง ได้แก่  ผลไม้ พริก สมุนไพร เมล็ดกาแฟ เป็นต้น
นายยงยุทธ์ กล่าวว่า หลังจากครบกำหนดการเปิดรับสมัครในวันที่ 6 ก.ย. 2562 แล้ว พพ.จะใช้เวลาพิจารณาผู้ผ่านคุณสมบัติประมาณ 1 เดือน ก่อนจะเริ่มทำสัญญากับผู้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการลงทุนติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ซึ่งในสัญญาจะระบุให้ผู้ร่วมโครงการต้องดำเนินการติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้เสร็จภายใน 6 เดือน หลังจากทำสัญญาแล้ว

Advertisment