เงินกองทุนน้ำมันฯยังไหลออก1,700ล้านบาทต่อเดือน แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง

- Advertisment-

กบง.รับทราบสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ช่วง2สัปดาห์ที่ผ่านมา( 5ต.ค.-25ต.ค.) ราคาลดลงถึง 9.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับลดลงตาม พร้อมมีมติปรับเพิ่มอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 95 ในอัตราไม่เกิน 1บาทต่อลิตร  แต่ฐานะกองทุนฯ ยังคงมีเงินไหลออก 1,702 ล้านบาทต่อเดือน  จากนโยบายการอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC ) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการ บริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2561 ที่ประชุม กบง.ได้รับทราบรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันจากทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ในฐานะฝ่ายเลขากบง. ว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา( 5ต.ค.-25ต.ค. 2561) มีแนวโน้มที่ลดลง  จากการที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก มีการปรับตัวโดยเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้  ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ วันที่ 25 ต.ค. 2561 ปรับตัวลดลงมาถึง 9.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับราคา ณ วันที่ 5 ต.ค. 2561 คือจาก 84.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 74.95เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล   และส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ทยอยปรับราคาลดลง 5 ครั้ง รวมลดลงแล้ว 2.10 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ กบง.เห็นชอบให้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  เป็นกลไกในการบริหารราคาน้ำมัน โดยปรับเพิ่มหรือปรับลดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนฯ   ดังนี้ สำหรับกลุ่มน้ำมันเบนซินและ แก๊สโซฮอล์ 95 (E10)  ในช่วงน้ำมันขาลง  นั้น ให้เพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯในกรอบไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ชนิดอื่น ให้ปรับอัตราได้โดยการรักษาค่าการตลาดที่เหมาะสม และส่วนต่างราคาขายปลีก ที่คำนึงถึงค่าความร้อนของชนิดเชื้อเพลิง  ขณะที่น้ำมันดีเซล เดิมมติกบง.เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2561 ให้กรอบการชดเชยราคาไม่เกิน 1.50 บาทต่อลิตร ในช่วงราคาน้ำมันขาขึ้น แต่ในช่วงน้ำมันขาลงให้ลดกรอบการชดเชยเหลือไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร

- Advertisment -

โดยปัจจุบัน แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์91 เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯอยู่ที่ 0.72 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์E20 ชดเชย 2.18 บาทต่อลิตร,แก๊สโซฮอล์E85 ชดเชย 7.78 บาทต่อลิตร ดีเซล ชดเชย 60 สตางค์ต่อลิตร และ ดีเซล B20 ชดเชย 3.10 บาทต่อลิตร ซึ่งช่วงราคาน้ำมันขาลงดังกล่าว ส่งผลให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น โดย ณ วันที่ 26 ต.ค.2561 ค่าการตลาด  แก๊สโซฮอล์ 95 (E10)อยู่ที่ 2.57บาทต่อลิตร  แก๊สโซฮอล์ 91  อยู่ที่ 2.74 บาทต่อลิตร  ส่วนดีเซล อยู่ที่  1.95 บาทต่อลิตร   จากที่ก่อนหน้านี้ ที่เป็นช่วงราคาน้ำมันขาขึ้น ผู้ค้าน้ำมันได้รับค่าการตลาดในระดับที่ต่ำกว่า 1.50 บาทต่อลิตร

ส่วนสถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 25 ต.ค.2561 มีเงินสุทธิ 23,741 ล้านบาท แยกเป็น บัญชีน้ำมัน 28,359 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 4,618 ล้านบาท จากการประมาณการกองทุนฯ จะมีรายจ่ายสุทธิ 1,702 ล้านบาทต่อเดือน จากนโยบายการอุดหนุนราคาดีเซลไม่ให้สูงเกินกว่า 30บาทต่อลิตร และอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม ไม่ให้เกินราคา363 บาทต่อถังขนาดบรรจุ 15กก.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าในการช่วยเหลือราคาน้ำมันมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถือบัตรสวัสดิการ ให้ได้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในราคาถูกกว่าทั่วไป 3 บาทต่อลิตร นั้น กรมธุรกิจพลังงาน ได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์แล้ว พบว่ามีจำนวนประมาณ 4 หมื่นราย  โดยกำหนดวงเงินให้ไม่เกิน  450 บาทต่อคนต่อเดือน

Advertisment