เครือสหพัฒน์จับมือ GE อิมแพค โซลาร์ และ IES ทรานส์ฟอร์มสวนอุตสาหกรรมศรีราชาสู่ต้นแบบ Microgrid

(จากซ้าย) โกวิทย์ คันธาภัสระ ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีอี ประเทศไทย, วิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริษัท สหพัฒนาโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), ภราไดย สืบมา กรรมการ อิมแพค อิเล็คตรอนส์ สยาม จำกัด และ สมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด
- Advertisment-

เครือสหพัฒน์ จับมือ บริษัทพลังงาน GE อิมแพค โซล่าร์ และ IES ร่วมพัฒนาสวนอุตสาหกรรมศรีราชาให้เป็นสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Park) ที่มีโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยจะใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ลอยน้ำ พ่วงระบบกักเก็บพลังงาน และ EV Charger ภายในสวนอุตสาหกรรมฯ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างระบบการตลาดแลกเปลี่ยนพลังงานอัจฉริยะ (Energy Trading Platform) เป็นแห่งแรกของไทย คาดแล้วเสร็จกลางปี 2563  

บริษัท สหพัฒนาโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ เครือสหพัฒน์ และบริษัท เจเนรัล อิเลคทริค (ประเทศไทย) หรือ GE ร่วมกับ บริษัท อิมแพค โซลาร์ จำกัด และบริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (IES) ผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีพลังงานในการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมศรีราชาในเครือสหพัฒน์ จ.ชลบุรี ให้เป็นสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Park) มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าไมโครกริด (Microgrid) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย และจะพัฒนาไปเป็น Smart Energy Trading Platform หรือ ตลาดแลกเปลี่ยนพลังงานอัจฉริยะแบบ peer-to-peer ที่จะเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริษัท สหพัฒนาโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์มีโรงไฟฟ้าและระบบสายส่งเป็นของตนเอง ซึ่งถือเป็นโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) ของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในโครงการนี้ โดยเทคโนโลยีดิจิทัลของ GE และการลงทุนติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของอิมแพค โซลาร์ จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนพลังงานอัจฉริยะจากแหล่งพลังงานต่าง ๆ ในสวนอุตสาหกรรม ได้แก่ ระบบผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า บมจ.สหโคเจน (ที่ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมฯ)กับระบบโซลาร์รูฟท็อป ที่บริษัท อิมแพค โซลาร์ เป็นผู้ติดตั้ง และระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าที่ยังไม่มีใครทำในประเทศไทย แต่ GE มีประสบการณ์ในการสร้างแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้แล้วในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เครือสหพัฒน์หวังว่าการพัฒนาสมาร์ทกริดนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงานสำหรับลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

- Advertisment -

ด้าน นายโกวิทย์ คันธาภัสระ ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีอี ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัลกริด ของ GE ความร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้ จะสร้างระบบ Smart Microgrid ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ จะเป็นทั้งผู้ใช้ไฟและผู้ผลิตไฟฟ้า และจะเกิดระบบการตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า (Energy Trading Platform) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงบูรณาการ ทั้งระบบไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโคเจน โซลาร์ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charing Station) และด้วยเทคโนโลยีของ GE ที่มีผู้นำไปใช้มากกว่า 90% ทั่วโลก ระบบดังกล่าวจะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งทำให้สามารถนำพลังงานไฟฟ้าโซลาร์ในโครงการ ไปขายให้ผู้อื่นที่ต้องการใช้ไฟฟ้าได้ด้วย โดย GE ได้พัฒนาระบบดังกล่าวจนประสบความสำเร็จแล้วที่ Navy Yard  เมือง ฟิลาเดลเฟีย ในสหรัฐอเมริกา

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้จะ Transform หรือ ปรับเปลี่ยนให้สวนอุตสาหกรรมฯ มีความทันสมัยและเป็นการนำพลังงานทดแทนเข้าสู่ภาคการผลิต โดยจะลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ลอยน้ำ รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ใช้งบรวมประมาณ 800 ล้านบาท มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 25 เมกะวัตต์ โดยแบ่งการลงทุนเป็น 5 ระยะ ๆ ละ 5 เมกะวัตต์ เป็นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป บนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมฯ ซึ่งมีพื้นที่รวม 2.5 แสนตารางเมตร และติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ 500 กิโลวัตต์ ในบ่อน้ำสาธารณะของสวนอุตสาหกรรมฯ โดยโซลาร์ลอยน้ำนี้ จะส่งไฟฟ้าเข้าไปในโครงข่ายไฟฟ้าไมโครกริดในสวนอุตสาหกรรมฯ เพื่อใช้งานในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมได้จริง รวมถึงติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ประมาณ 500 – 1,000 กิโลวัตต์ ส่วน EV  Charger จะติดตั้งประมาณ 10 จุด โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดภายในกลางปี 2563 สำหรับกลุ่มเป้าหมายจะ เป็นลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10-20 ปี

“ระบบพลังงานทั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน และ EV จะเข้ามาเสริมกับโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่นที่สหพัฒน์ฯ มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับสวนอุตสาหกรรม และจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อพัฒนา โดย GE จะเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแบบ peer-to-peer โดยเปิดกว้างการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้ง blockchain และ อื่นๆ เพื่อบริหารทรัพยากรให้ดีที่สุด”

ทั้งนี้ อิมแพค โซลาร์ บริษัทในเครือ IES เป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้ในระยะยาวในรูปแบบที่ทำให้ประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้า และดูแลตลอดอายุสัญญา ปัจจุบันดูแลจัดการระบบโซล่าร์รูฟท็อปให้หลายโครงการทั่วประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ เช่น Big C หลายสาขา Kerry Siam Seaport ไทยยูเนี่ยน และ SB Design Square เป็นต้น

Advertisment