ย้ำประมูล ‘บงกช-เอราวัณ’ โปร่งใสทุกขั้นตอน ชี้ระบบพีเอสซีเหมาะกับไทยมากที่สุด

- Advertisment-

คอลัมน์ รอบรู้ปิโตรเลียม By Mr. Fact

ย้ำประมูล ‘บงกช-เอราวัณ’ โปร่งใสทุกขั้นตอน ชี้ระบบพีเอสซีเหมาะกับไทยมากที่สุด

ยังคงต้องจับตาดูต่อไปด้วยใจระทึก ว่าการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสองแหล่งใหญ่ในอ่าวไทย “เอราวัณและบงกช” จะสำเร็จ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นี้หรือไม่ เพราะกลุ่มคัดค้านที่ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนหน้าเดิม ยังมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เรียกร้องให้รัฐชะลอการประมูลออกไปก่อน เพื่อหวังให้เปลี่ยนระบบการประมูลจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) มาเป็นระบบจ้างผลิต (SC) แทน รวมถึงข้อเสนอให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแหล่งนี้โดยเฉพาะ

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีพลังงาน ปลัดพลังงานคนใหม่ รวมไปถึงอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคนใหม่ ต่างขยับเกียร์เดินหน้า ยืนยันผ่านสื่อถึงความจำเป็นที่จะต้องเปิดการประมูลตามแผน ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะทำงานและคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอ ที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรมชาติเป็นประธาน หลังจากที่เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) เข้ายื่นแผนดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลตอบแทนให้แก่รัฐ ภายใต้ระบบ PSC ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ไทยนำระบบนี้มาใช้แทนระบบสัมปทานเดิมที่ใช้กันมานานกว่า 40 ปี

ตรวจดูรายชื่อหลังปิดรับการยื่นซอง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ยื่นข้อเสนอขอสิทธิสำรวจพัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยร่วมกับภาครัฐ  ก็ปรากฏว่า ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (เอราวัณ) มีผู้ยื่น 2 ราย คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เครือ ปตท.สผ. จับคู่มากับบริษัท เอ็มพีจี2 (ประเทศไทย) จำกัด เครือมูบาดาลา สัดส่วน 60:40 และ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จับคู่กับบริษัท มิตซุยออยล์เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด สัดส่วน 76:24  ขณะที่ แปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (บงกช) มีผู้ยื่นประมูล จำนวน 2 ราย คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 100% และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จับคู่กับบริษัท มิตซุยออยล์เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด สัดส่วน 76:24

โดยซองเอกสารที่ยื่น มี 4 ซอง ประกอบด้วย ซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการแผนงานการสำรวจ และแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม และซองที่ 4 เอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย

สรุปได้ว่าการประมูลครั้งนี้ เป็นการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มผู้รับสัมปทานเดิมในแหล่งเอราวัณและบงกช คือกลุ่มเชฟรอน และ ปตท.สผ. ที่เสนอตัวแข่งขันเพื่อรักษาแหล่งปิโตรเลียมเดิมของตัวเองไว้ และหวังจะได้ไปเป็นโอเปเรเตอร์ในแปลงของคู่แข่ง โดยที่ ปตท.สผ. มีมูบาดาลา ปิโตรเลียม เข้ามาช่วยเสริมทัพในการชิงชัยในแหล่งเอราวัณ

โดยระหว่างนี้ คณะทำงานพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะพิจารณารายละเอียดข้อเสนอ 1-3 ซองแรกก่อน หากทุกรายผ่านเกณฑ์ ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอก็จะเปิดซองที่ 4 และเรียงลำดับคะแนน แล้วจึงนำเสนอให้คณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีปลัดกระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีพลังงานนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในเดือนธันวาคม 2561 นี้  ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ก็คาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะสามารถลงนามสัญญา PSC กับผู้ชนะประมูลได้

ในประเด็นที่ถูกกล่าวหาเรื่องความโปร่งใสในการประมูลจากกลุ่มคัดค้าน นั้น ภาครัฐยืนยันหนักแน่นว่าการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ทุกขั้นตอนดำเนินการอย่างโปร่งใส ตั้งแต่ขั้นแรกที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบแผนและเงื่อนไขการประมูล การออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการ การคัดเลือกและประกาศผลพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น จนถึงการเปิดให้ยื่นข้อเสนอประมูล เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเดินหน้ามาถึงขั้นที่ 5 แล้วจากทั้งหมด 7 ขั้น    

*ขอบคุณภาพจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

สำหรับเหตุที่เลือกใช้ระบบ PSC ในการประมูล 2 แหล่งก๊าซฯ นี้ ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2560 ที่เปิดทางให้ภาครัฐสามารถนำระบบ PSC หรือ SC มาดำเนินการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้นอกเหนือจากระบบการให้สัมปทาน บนหลักวิชาการทั้งด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียม โดย PSC เป็นระบบที่เหมาะสมกับแหล่งก๊าซของไทยที่มีลักษณะเป็นกะเปาะเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วอ่าวไทย ในขณะที่ระบบ SC เหมาะกับประเทศที่มีทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งตามหลักเกณฑ์ จะต้องเป็นแหล่งขนาดใหญ่ มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมาก

สัญญา PSC จึงเหมาะสมที่สุดในการประมูล 2 แหล่งก๊าซดังกล่าว โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ ที่ภาครัฐจะมีส่วนร่วมอนุมัติแผนงาน งบลงทุน ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับผู้ได้รับสัญญา ข้อดีคือ ภาครัฐสามารถเข้าไปกำกับดูแลเรื่องการลงทุนได้อย่างชัดเจน

*ขอบคุณภาพจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำว่าการดำเนินงานทุกขั้นตอนของการประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส ชัดเจน เพราะมีคณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอที่จะทำให้ประเทศและ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐ ที่ประเมินว่าจะมีรายได้จากค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไร รวมประมาณ 800,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีแรก นอกจากนั้น ยังเกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 80-90% ภายในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขทีโออาร์ ขณะเดียวกัน ช่วยลดการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 460,000 ล้านบาท หรือราว 22 ล้านตัน อีกทั้งเกิดเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งไปในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็กล่าวว่า รมว.พลังงาน มอบหมายให้ผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยภารกิจเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือการเปิดให้สิทธิเอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช โดยต้องทำให้ทุกกระบวนการเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยึดหลักเพื่อผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

*ขอบคุณภาพจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ในฝั่งของผู้ประกอบการ จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมั่นในความโปร่งใสและยุติธรรมของกระบวนการเปิดประมูลครั้งนี้ โดย  นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แสดงความมั่นใจว่า ด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชมาเป็นเวลากว่า 25 ปี จะทำให้ข้อเสนอที่ยื่นเสนอต่อภาครัฐ จะได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และคนไทย อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ประเทศมีต้นทุนที่แข่งขันได้ และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว

เช่นเดียวกับ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เชื่อว่าประสบการณ์การเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน ตลอดจนความรู้ ความเข้าใจในสภาพทางธรณีวิทยาของอ่าวไทย การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแนวทางปฏิบัติงานที่เป็นเลิศจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จะทำให้ได้รับเลือกเป็นผู้ชนะการประมูล เพื่อทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยต่อไป

..ต้องย้ำว่าการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ทั้ง เอราวัณ และบงกช ที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ70 ของการผลิตก๊าซจากอ่าวไทย นั้น มีความสำคัญมากต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ รวมถึงประโยชน์ที่ภาครัฐและประชาชนจะได้รับ โดยหากสามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น ไม่เพียงแต่รัฐจะมีรายได้ในรูปของภาษี ค่าภาคหลวง และค่าดำเนินการต่าง ๆ ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประเมินตัวเลขดูแล้ว เฉลี่ยปีละ 8 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลา 10 ปีแรก รวมเป็นเงิน 8 แสนล้านบาท และเม็ดเงินลงทุนจากผู้รับสัญญาเพิ่มขึ้นอีก 1.1 ล้านล้านบาท เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจไทย และความเชื่อใจในกระบวนการประมูลของภาครัฐที่เป็นไปอย่างโปร่งใส ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ภาครัฐพยายามผลักดันอยู่ในเวลานี้ …

Advertisment