พาณิชย์ เอ็มโอยู กฟผ.ขับเคลื่อนซื้อน้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้า

- Advertisment-

กระทรวงพาณิชย์ลงนาม MOU กับกระทรวงพลังงาน แล้วเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2561 เพื่อขับเคลื่อนมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ กฟผ.และกระทรวงพาณิชย์จะช่วยกันแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นประมาณ1,354ล้านบาท

ในวันนี้ (25 ธันวาคม 2561) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ระหว่าง นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์
การลงนามดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่เห็นชอบมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศโดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ให้กระทรวงพลังงาน โดย กฟผ. รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินจำนวน 160,000 ตัน เพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง หน่วยที่ 3 จ.ฉะเชิงเทรา และให้กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบ ให้แก่ กฟผ.

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 160,000 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 18 บาท ส่งที่ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง ด้วยวิธีจัดซื้อจัดจ้างตามข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด ของ กฟผ. เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง  ในขณะที่กรมการค้าภายใน จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนการจัดหาน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีดำเนินมาตรการ รับสมัครผู้ประสงค์เสนอขายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. คัดเลือกและจัดสรรปริมาณขาย เพื่อให้ กฟผ. ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งมอบสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสนับสนุนความช่วยเหลือในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้ราคาผลปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรได้รับอยู่ในระดับสูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC )รายงานว่า จากมาตรการ ปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ตามมติ ครม.ดังกล่าว คาดว่าทาง กฟผ.จะต้องใช้วงเงิน 2,880 ล้านบาท สำหรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 1.6 แสนตันมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในโรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงกว่าปกติ 1,354 ล้านบาท  โดยต้นทุนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลจะใช้งบประมาณกลางจำนวน525 ล้านบาท มาชดเชยเงินให้กับ กฟผ. ส่วนที่เหลืออีก 829 ล้านบาท ทาง กฟผ.จะไปทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อให้ใช้ ในรูปแบบรายจ่ายเพื่อสังคมของ กฟผ.เอง มาดำเนินการไปก่อน จากนั้นภาครัฐจะจัดคืนให้ภายหลัง

โดยฝ่ายบริหารของกฟผ.ระบุว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว จะไม่กระทบต่อเงินเดือน โบนัส ของพนักงาน กฟผ. และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับผู้ใช้ไฟ

Advertisment

- Advertisment -.