ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศยกกรณีอินเดีย อินโดฯ เปิดเสรีราคาน้ำมันช่วยรัฐลดภาระการอุดหนุนได้มาก

- Advertisment-

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานในภูมิภาคเอเชียจาก S&P GLOBAL PLATTS ยกกรณีอินเดียและอินโดนีเซีย ปรับนโยบายหันมาเปิดเสรีราคาขายปลีกน้ำมัน ที่ช่วยลดภาระการอุดหนุนของรัฐบาลลงได้จำนวนมาก  ในขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัท IHS Markit คาดการณ์ว่ายานยนต์ไฟฟ้า Battery Electric Vehicle (BEV) จะมีความต้องการในตลาดโลกสูงถึง 10 ล้านคัน ภายในปี ค.ศ. 2030  แต่สำหรับตลาดเอเชียจะมุ่งเน้นที่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV)

เมื่อวันที่18 กันยายน 2561 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา PRISM Forum – Energy Transformation for Sustainability ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการ PRISM หรือโครงการบริหารการสร้างประโยชน์ร่วมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น กลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นงานสัมมนาพิเศษที่ทาง PRISM จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานของโลก โครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย และทิศทางของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ที่จะส่งผลต่อธุรกิจพลังงานในอนาคต รวมถึงการอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้บริหารองค์กรพลังงานข้ามชาติ ภาครัฐ และภาคเอกชน ถึงทิศทางและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจพลังงานในประเทศไทย นำเสนอด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงและบทวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพนักงานกลุ่ม ปตท. และผู้มีส่วนได้เสีย เช่น สื่อมวลชน คู่ค้า ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป เป็นต้น

โดยภายในงานแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงการบรรยายจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญการให้ข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานในระดับสากล  ในหัวข้อ Retail Fuel Price – The Asian Landscape โดย Ms.Mriganka Jaipuriyar, Associate Editorial Director, Asia Energy News & Analysis จาก บริษัท S&P GLOBAL PLATTS เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานในภูมิภาคเอเชียและวางแผนกลยุทธ์ในการสร้างและการบริหารเนื้อหาให้กับ Platts โดยเฉพาะในประเทศจีน และยังมีประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนในประเทศอินเดียด้วย

- Advertisment -

Ms.Mriganka Jaipuriyar กล่าวว่า วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำในปี ค.ศ. 2014 ส่งผลให้หลายประเทศหันมาปรับนโยบายเปิดเสรีราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น รัฐบาลอินเดีย และอินโดนีเซียสามารถประหยัดเงินจากการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าหลายล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ อีกทั้งเป็นกลไกให้ตลาดปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน โดยประเทศในเอเซียได้กำหนดโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. ราคาเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ (Fully Deregulated Prices)

2. ราคาควบคุมและอุดหนุนราคา (Regulated and Subsidized Prices) และ

3. ราคากึ่งควบคุม (Semi-regulated Prices)

โดยการกำหนดโครงสร้างดังกล่าวของแต่ละประเทศ ก็ไม่ได้มาจากปัจจัยทางด้านสถานะการนำเข้า-ส่งออกสุทธิ หรือ ขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เช่น ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นประเภทเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ ประเทศฟิลิปปินส์ที่มีเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นประเภทเปิดเสรี เป็นต้น

ประเทศอินเดียและอินโดนีเซียเป็นกรณีศึกษาของการเปิดเสรีราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งสองประเทศเริ่มกระบวนการเปิดเสรีราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในปี ค.ศ. 2014 โดยใช้วิธีการที่แตกต่างกัน รัฐบาลอินเดียประสบความสำเร็จในการอุดหนุนราคา โดยรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) กับภาคส่วนที่เป็นเป้าหมายโดยตรง ซึ่งบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศอินเดียไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียยังมีอุปสรรคในการดำเนินการ ถึงแม้จะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลรายใหญ่ของภูมิภาค เมื่อราคานำเข้าสูงขึ้น แต่ไม่ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน และเพิ่มการอุดหนุนน้ำมันดีเซล  ทำให้บริษัท Pertamina ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติของอินโดนีเซียขาดทุน 280 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐในระยะเวลาเพียงสองเดือนแรกของปีนี้

ส่วน การบรรยายในหัวข้อ EV Outlook โดย  สิริ กาญจนสิริ นักวิเคราะห์จากบริษัท IHS Markit Automotive  ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงของการวิเคราะห์วิจัยด้านวิศวกรรมยานยนต์ และการพัฒนาเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 10 ปี  และมีความรู้และเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยเกี่ยวกับโครงการยานยนต์ระดับภูมิภาค นโยบายการกำกับดูแลของรัฐบาล การวิเคราะห์การตลาดและแนวโน้มของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ กล่าวว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ซึ่งสามารถแบ่งตามเทคโนโลยี ดังนี้

1. ยานยนต์ไฟฟ้าแบบมายไฮบริด (Mild Hybrid Electric Vehicles: MHEV)

2. ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV)

3. ยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicle: PHEV)

4. ยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี (Battery Electric Vehicle: BEV) และ

5. ยานยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV)

โดย 4 ปัจจัยหลักในการผลักดันให้เกิดตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า  นโยบายประเทศและการบังคับใช้ แรงจูงใจต่อผู้บริโภค และความพร้อมของภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดการปลดปล่อยมลพิษและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

IHS Markit คาดการณ์ว่ายานยนต์ไฟฟ้า Battery Electric Vehicle (BEV) จะมีความต้องการในตลาดโลกสูงถึง 10 ล้านคัน ภายในปี ค.ศ. 2030  แต่สำหรับตลาดเอเชียจะมุ่งเน้นที่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ซึ่งความท้าทายของยานยนต์ไฟฟ้าประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน, เทคโนโลยี, ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และเครือข่ายบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการขยายตลาด BEV ในภูมิภาคเอเชีย

ส่วนการจัดการเสวนาในหัวข้อ “EV Adopting in Thailand” มีวิทยากรบริษัทพลังงานข้ามชาติ ภาครัฐ และภาคเอกชน คือ นาย อรรถ เหมวิจิตรพันธ์ รองประธานกรรมการ บริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด  นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย  คุณดรุณพร กมลภุส ผู้อำนวยการโครงการอิเล็คทริคซิตี้แวลูเชน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  ดร.สมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน นั้นเป็นการเปิดมุมมองอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า และการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

Advertisment

- Advertisment -.