ปตท.สผ. ทุ่ม 1.6 พันล้าน ตั้ง ARV รุกธุรกิจ AI และ Robotic สนับสนุนกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

- Advertisment-

ปตท.สผ. เปิดตัว ARV บริษัทให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ โดยช่วงแรกจะใช้เงินลงทุน 1,600 ล้านบาท วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านการเกษตร และความปลอดภัย วางเป้าภายใน 3-5 ปี เป็นผู้นำด้าน AI ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเปิดตัวบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงนวัตกรรมกับทั่วโลก และดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ โดยปัจจุบัน ARV เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ในประเทศแล้ว และมีแผนจะขยายบริการไปทั่วภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก นอกจากนี้ ตนจะชักชวนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาใช้บริการของ ARV ในการตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศและในอาเซียนด้วย

ด้าน นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. กล่าวว่า ARV จะทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม ซึ่งช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของพนักงาน และยังสามารถยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากด้านพลังงาน ซึ่งในระยะแรก (2562-2564) ARV จะมีการลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีของ ARV จำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับการทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ปตท.สผ. จึงได้ลงนามสัญญากับ ปตท. เพื่อเช่าที่ดินวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ของ ปตท. รวม 44.3 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี เพื่อทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และธุรกิจใหม่ๆ ด้านพลังงาน ซึ่ง ARV จะเข้าไปใช้ประโยชน์ภายในศูนย์แห่งนี้ด้วย และในอนาคต ปตท.สผ. อาจย้ายศูนย์วิจัยที่วังน้อยไปอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เพื่อเชื่อมโยงการทำงานด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กระตุ้นให้โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi ) เกิดการเติบโตมากขึ้น

นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป ARV กล่าวว่า ในช่วงแรก ARV จะให้บริการในกลุ่ม ปตท. และ ปตท.สผ. เป็นหลัก เพื่อสะสมชั่วโมงบินก่อนขยายการให้บริการไปยังธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน ซึ่งขณะนี้ เริ่มมีธุรกิจด้านการเกษตรที่สนใจนำเทคโนโลยีโดรน (Drone) เข้ามาช่วยวิเคราะห์การเติบโตของพืช ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว รวมทั้งการลดข้อจำกัดของเกษตรกรในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีราคาถูกลง และขณะนี้ก็มีบริษัท มิตรผล ที่สนใจนำเทคโนโลยีของ ARV ไปใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์สภาพการเติบโตของไร่มันสำปะหลัง รวมทั้งการใช้งานด้านความปลอดภัย (Security) เช่น โดรนดับเพลิง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

นอกจากนี้ ยังมีการจับมือกับบริษัท สตาร์ทอัพ ในประเทศนอร์เวย์ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea Flowline Control and Repair Robot – SFCR) ตัวแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบและซ่อมท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำได้โดยอาศัยการควบคุมจากระยะไกล ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในงานซ่อมแซมได้กว่าครึ่งจากการทำงานรูปแบบเดิม และลดความเสี่ยงของพนักงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบและคาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงได้ในปี 2563 หากประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยน (Game Changer) ที่มีผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ

สำหรับการทำงานของ SFCR นั้น เป็นการส่งหุ่นยนต์ลงไปซ่อมท่อแทนที่จะส่งคนหรือนักประดาน้ำลงไปซ่อม ซึ่งท่อในอ่าวไทยมีความลึกประมาณ 60-70 เมตร เป็นระดับที่ไม่ควรส่งมนุษย์ลงไปดำเนินการ ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถทำงานใต้ทะเลที่ระดับความลึกได้ถึง 200-300 เมตร ซึ่งตัวต้นแบบมีอยู่ 1 ตัว กำลังทำการผลิตที่ประเทศนอร์เวย์

นอกจากนี้ ARV ยังให้บริการและอยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อปฏิบัติงานทั้งบนบก ในทะเล และทางอากาศ เช่น หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย (Inspection-class Autonomous Underwater Vechicle – IAUV) สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำได้โดยอัตโนมัติ เช่น การตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำและโครงสร้างของแท่นผลิตปิโตรเลียมใต้ทะเล เพื่อป้องกันการชำรุด โดยไม่ต้องอาศัยเรือสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่บังคับ ส่วนหุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ (In-pipe Inspection Robot – IPIR) เพื่อใช้สำรวจสภาพภายในท่อปิโตรเลียมที่มีพื้นที่จำกัด ตั้งแต่ 6-16 นิ้ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ และสามารถประมวลผลเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2017 จนได้เจนเนอเรชั่นที่ 2 ในปี 2018

Advertisment

- Advertisment -.