บ้านปู เพาเวอร์ ปักธงลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม 80เมกะวัตต์ ที่ เวียดนาม

- Advertisment-

บ้านปู เพาเวอร์  ปักธง ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย โครงการระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ซึ่งเป็นการลงทุน ตามเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้สัดส่วน20% ในปี2568 ในขณะที่ธุรกิจถ่านหิน ของบริษัทแม่  ยังมีผลประกอบการที่ดีในไตรมาสที่2 โดยคาดการณ์ราคาถ่านหินในครี่งปีหลัง จะยังทรงตัวในระดับที่สูงเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน  

นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บ้านปู เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังผลิต 80 เมกะวัตต์ ใน จังหวัดซอกจัง (Soc Trang) ประเทศเวียดนาม แบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ (Commercial Operation Date: COD) ภายในปี 2563 ส่วนโครงการอีก 2 ระยะ กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ และ 20 เมกกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ภายในปี 2564   โดยเวียดนามถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพ มีความเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า และมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างชัดเจน

นายสุธี กล่าวว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามครั้งนี้ เป็นการเดินหน้าตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบริษัทบ้านปู  โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ให้ได้ 4,300 เมกะวัตต์ในปี2568 โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20  จากปัจจุบันที่ บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าทั้งหมด 28 แห่ง ในประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 16 โรง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 12 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,869 เมกะวัตต์   แต่หากนับเฉพาะกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วคิดเป็น 2,129.2 เมกะวัตต์  โดย เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป 1,955 เมกะวัตต์เทียบเท่า และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 174.2 เมกะวัตต์

- Advertisment -

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีนยังคงดำเนินไปตามแผนเพื่อให้โครงการทั้ง 2 หน่วย กำลังผลิตติดตั้ง 1,320 เมกะวัตต์ พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562-2563 เช่นเดียวกับการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นก็คืบหน้าตาม โดย ล่าสุดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มุกะวะ (Mukawa) กำลังผลิตติดตั้ง 17 เมกะวัตต์ สามารถ COD แล้ว เมื่อวันที่1 ส.ค.2561ที่ผ่านมา

บริษัทฯ ยังสนใจการลงทุนโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาต้นทุนและความเป็นไปได้   โดยปัจจุบันบริษัทฯมีโครงการ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ประเทศจีนอยู่แล้ว 50 เมกะวัตต์

ด้านนาง สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน)​เปิดเผยว่า คาดว่าทิศทางราคาถ่านหินครึ่งหลังของปี 2561 จะเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากปัจจุบันที่ทรงตัวอยู่ระดับ 119-120 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งสูงกว่าไตรมาสแรกของปี 2560 ที่อยู่ระดับ 104-105 เหรียญสหรัฐต่อตัน  เนื่องจากความต้องการใช้ยังสูงโดยเฉพาะในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังการผลิตใหม่ๆของโลกยังน้อย

โดยล่าสุด บริษัท PT Indo Tambangraya Megah Tbk. (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูฯ ได้ซื้อเหมืองแห่งใหม่ที่เกาะกาลิมันตันตอนกลางในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อตอบรับกับความต้องการถ่านหินที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าน่าจะเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินให้กับบริษัทฯ ได้ราว 77 ล้านตัน

สำหรับผลการดำเนินงานของบ้านปูฯ ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2561 มีรายได้จากการขายรวม 813 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 26,964 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 180 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,711 ล้านบาท)  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณการขายถ่านหินและราคาขายถ่านหินเฉลี่ยที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ส่วนกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 290 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,618 ล้านบาท) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 27.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 124 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,112 ล้านบาท) สูงขึ้นเกือบเท่าตัวจากกำไรสุทธิ 66 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2561 สามารถจำแนกตามประเภทธุรกิจได้ดังนี้

ธุรกิจถ่านหิน ในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2561 มีรายได้จากการขายรวม 706 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,416 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณอุปทานถ่านหินที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทฯ ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 76.93เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับในปีก่อนหน้า แบ่งเป็นปริมาณการขายจากเหมืองในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย 5.34 ล้านตัน และออสเตรเลีย 3.78 ล้านตัน

ธุรกิจไฟฟ้า มีรายได้จากการขายรวมจากธุรกิจ ไฟฟ้า ไอน้ำ และอื่นๆ  72  ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,388ล้านบาท)  ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรที่ดีจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และหงสา ส่งผลให้ธุรกิจไฟฟ้าในไตรมาสนี้มี EBITDA 67 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,222 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา มีรายได้จากการขายที่ 35 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,160 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 298 ล้านบาท) หรือร้อยละ 34.6 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปริมาณขายที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้

(*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ USD 1: THB 31.7289 สำหรับงบกำไรขาดทุนเฉลี่ยราย 6 เดือนUSD 1: THB 33.1672 สำหรับงบกำไรขาดทุนเฉลี่ยรายไตรมาส)

Advertisment

- Advertisment -.