บอร์ดปตท.อนุมัติงบลงทุน5ปี(2562-2566) กว่า167,114 ล้านบาท

- Advertisment-

ซีอีโอปตท.แจ้งมติบอร์ดปตท.อนุมัติแผนลงทุน5ปี(2562-2566)กว่า167,114 ล้านบาท ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกว่าร้อยละ 61 หรือประมาณแสนล้านบาท  เน้นลงทุนในบริษัทที่ปตท.เข้าไปร่วมลงทุนและร่วมถือหุ้นร้อยละ100  พร้อมเตรียมงบลงทุนในอนาคต(Provision)อีก187,616 ล้านบาท สำหรับธุรกิจLNG และNew s-curve เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค แนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดและยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศ  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า  นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ได้มีหนังสือแจ้งต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21ธ.ค.2561 นี้ถึงแผนการลงทุน5ปี(2562-2566) ของปตท.ที่คณะกรรมการปตท.ได้มีมติอนุมัติ  โดยมีวงเงินรวมประมาณ 167,114ล้านบาท  ซึ่งกว่าร้อยละ61 หรือประมาณ 101,205 ล้านบาทเป็นการลงทุนในส่วนที่ปตท.เข้าไปร่วมทุนและบริษัที่ปตท.ถือหุ้นร้อยละ100  รองลงมาคือธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ16 คิดเป็นวงเงินรวม27,527 ล้านบาท อีกร้อยละ9 หรือประมาณ 15,695 ล้านบาท เป็นการลงทุนในส่วนของสำนักงานใหญ่และอื่นๆ  ส่วนธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย นั้น มีสัดส่วนการลงทุนเท่ากันคือร้อยละ7 หรือประมาณ15,695 ล้านบาท และ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ลงทุนรวม 10,908 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปี2562 ถือเป็นปีที่ปตท.ใช้เงินลงทุนมากที่สุด ในแผนลงทุน5ปี โดยใช้เงินลงทุนในทุกธุรกิจรวมกันประมาณ 46,181 ล้านบาทรองลงมาคือปี 2563 วงเงินลงทุน23,798 ล้านบาท

- Advertisment -

งบลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน สร้างสมดุล 3 มิติ ได้แก่ People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคมอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีแก่คนในสังคม อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ Planet การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ Prosperity เป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคม ด้วยหลักธรรมาภิบาล ดูแลผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นรูปธรรม

โดยในด้านการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (People และ Planet) ได้จัดสรรแผนงบประมาณจำนวน 6,095 ล้านบาท เน้นการทำงานผ่านสถาบันปลูกป่า ปตท. และร่วมจัดการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) โดย ปตท. ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2,900 ล้านบาท มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็นศูนย์กลางงานวิจัยด้านเทคโนโลยี  วัสดุ พลังงานทดแทน และดิจิทัล เพื่อร่วมยกระดับขับเคลื่อนสังคมสู่อนาคต พร้อมสร้างความเข้มแข็งแก่ประเทศ สอดคล้องกับการพัฒนาระดับสากล

โดยนอกจากงบลงทุนดังกล่าวแล้ว ปตท. ยังสนับสนุนงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ สำหรับด้าน People มุ่งเน้นพัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise (SE) นำร่องผ่าน Café Amazon for Chance ภายใต้การดูแลของบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อพัฒนาความสามารถ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ปัจจุบันมีอยู่ 4 สาขา และมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติมในอนาคต

ขณะที่ยังดำเนินงานพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่าน PTT Model of People Development เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดวัยเรียนในระดับต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จ.ระยอง และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ รวมทั้งการสนับสนุนการศึกษาระดับอาชีวะเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใน EEC

ส่วน ด้าน Planet ปตท. มุ่งสร้างแรงจูงใจและจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านการบริหารจัดการโดย สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. พร้อมสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านการทำเกษตรป่าไม้ (Agroforestry) พร้อมพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนติดตามการดำเนินงาน รวมถึงขับเคลื่อนการจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินงาน ตามแนวทางที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP21) เพิ่มปริมาณผลิตภัณฑ์และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เป็น Clean & Green

สำหรับด้าน Prosperity ซึ่งเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ 3D ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ด้วยเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถ สร้างการแข่งขันสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

1) Do now เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement) และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 55,291 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการทำงาน อาทิ โครงการ Predictive Maintenance ที่ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิต การพัฒนาระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซ

2) Decide now ตัดสินใจการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 91,203 ล้านบาท มุ่งเน้นการใช้ความชำนาญในธุรกิจพลังงานปัจจุบันให้บรรลุผล อาทิ การขยายความสามารถในการรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ คลังแอลเอ็นจี เทอมินัล (LNG Terminal) การขยายธุรกิจในต่างประเทศ การพัฒนาระบบขนส่ง (Logistic) ของกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย และโอกาสในการลงทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

3) Design now เร่งแสวงหาโอกาสและพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ (New S-Curve) จำนวน 14,525ล้านบาท เพื่อการเติบโตระยะยาวควบคู่กับการตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล อาทิ โครงข่ายธุรกิจไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System) รวมทั้งธุรกิจใหม่อื่นๆ เช่นด้าน Life Science, Material Science ที่เกี่ยวข้องกับการนำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านหุ่นยนต์ เครื่องจักรกล และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics/AI) หรือการลงทุนในรูปแบบสตาร์ทอัพ (Startup) Corporate Venture Capital (CVC)

นอกจากนี้ปตท.ยังได้เตรียมงบลงทุนในอนาคตหรือProvision อีกจำนวน 187,616 ล้านบาท สำหรับการขยายธุรกิจหลัก(Core Business) เช่น LNG Value Chain และการลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่จะเป็น new s –curve ของปตท.ที่จะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค แนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดและยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศ  โดยธุรกิจใหม่ๆเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

 

Advertisment

- Advertisment -.