นิด้า ส่งผลสรุป โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ให้คณะกรรมการSEA ไม่ทัน พ.ค.นี้

- Advertisment-

ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)ซึ่งเป็นผู้รับจ้างคณะกรรมการSEA  ยกเหตุผลติดเลือกตั้งและสงกรานต์  ขอเลื่อนสรุปผล พื้นที่ภาคใต้ ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่  จากเดิมที่ต้องส่งการบ้านเบื้องต้นภายในเดือน พ.ค.นี้
โดยประธานร่วมคณะกรรมการSEAระบุหากการศึกษาล่าช้า เกินกรอบ9เดือน ต้องเจรจาขอแก้ไขสัญญาเพื่อขยายเวลากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ซึ่งเป็นเจ้าของเงินค่าจ้างศึกษา 50ล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานร่วม คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า ผลการศึกษา “โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้” ที่ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ จะต้องเลื่อนการนำเสนอผลสรุปเบื้องต้นออกไปก่อน จากกำหนดเดิมที่จะได้ผลสรุปว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ภายในเดือนเม.ย.-พ.ค. 2562 นี้

โดยขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าผลสรุปเบื้องต้นจะเสร็จได้เมื่อไหร่ และจะส่งผลให้การจัดทำรายงานโครงการฯทั้งฉบับที่กำหนดให้เสร็จใน 9 เดือน (หลังการลงนามว่าจ้างนิด้าเป็นที่ปรึกษา) ต้องเลื่อนออกไปด้วยหรือไม่ ซึ่งหากรายงานไม่เสร็จใน 9 เดือน ทางนิด้าจะต้องหารือกับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อชี้แจงเหตุผล และขอขยายสัญญาการดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าของ กกพ. 50 ล้านบาท

- Advertisment -

เบื้องต้นทางนิด้าแจ้งว่า กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนในภาคใต้ ซึ่งคาดว่ามากกว่า 2 จังหวัด ว่าชาวบ้านจะมีข้อห่วงใยอย่างไรต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สำหรับนำมาทำเป็นทางเลือกและปรับทางเลือกให้เหมาะสม เสนอภาครัฐต่อไป

ส่วนกรณีที่จะมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดทำรายงานดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลใหม่มาก็ต้องจัดทำการศึกษาเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนในสังคม

นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในคณะกรรมการSEA กล่าวว่า กกพ.ได้ลงนามในสัญญาจ้างนิด้าเป็นที่ปรึกษาโครงการ SEA แล้วเมื่อเดือนม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ดังนั้นตามขั้นตอน นิด้าต้องได้คำตอบว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ภายใน 5 เดือน หรือในเดือน พ.ค.2562 นี้ แต่เบื้องต้นนิด้าอาจต้องเลื่อนเสนอผลสรุปออกไป เพราะตามกำหนดในเดือนมี.ค. 2562 นิด้าต้องจัดสานเสวนาร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ แต่เนื่องจาก มี.ค. 2562 เป็นช่วงการเลือกตั้ง ถ้าจัดสานเสวนาจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการเมืองได้ อีกทั้งในเดือนเม.ย. 2562 จะติดช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์อีก จึงทำให้นิด้าต้องเลื่อนการจัดสานเสวนาออกไปและทำให้ผลสรุปเบื้องต้นว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ต้องเลื่อนเวลาออกไปด้วย
อย่างไรก็ตามคาดว่าผลสรุปภาพรวมทั้งโครงการน่าจะเสร็จได้ตามที่กำหนดไว้ใน 9 เดือนหลังลงนามสัญญาจ้างนิด้า หรือประมาณเดือน ก.ย. 2562 เพราะมีการเตรียมการข้อมูลไว้เบื้องต้นแล้ว แต่จะช้าเฉพาะช่วงการจัดสานเสวนาเท่านั้น โดยพื้นที่จัดสานเสวนาครั้งแรกจะจัดขึ้นใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ที่จังหวัดสงขลา กระบี่  สุราษฏร์ธานี และชุมพร

นอกจากนี้เชื่อว่าการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะไม่มีผลกระทบต่อการศึกษาโครงการดังกล่าว เพราะได้ผ่านการอนุมัติจากภาครัฐแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ประกอบในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 ด้วย

Advertisment