ทีดีอาร์ไอ เสนอ 3 ทางเลือกปรับนโยบาย “ไฟฟ้าฟรี” ปิดช่องรั่วไหลไม่ถึงคนจนตัวจริง

- Advertisment-

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยมาตรการไฟฟ้าฟรีช่วยผู้มีรายได้น้อย ปี 2556 – 2558 ยังมีกลุ่มตกหล่นและมีการแอบใช้สิทธิรั่วไม่ถึงคนจนตัวจริง คาดเป็นกลุ่มคนมีบ้านหลังที่สองจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ พบบางส่วนลดการใช้ไฟเพื่อให้ได้รับสิทธิ สร้างภาระอุดหนุนเพิ่มหลายล้านบาทต่อปี หนุนรัฐยกเลิกผูกสิทธิตามโควตาการใช้ ปรับเป็นแบบเหมาจ่ายต่อเดือน

ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผลงานวิจัยโครงการประเมินนโยบายไฟฟ้าฟรีเพื่อผู้มีรายได้น้อย ในงาน TSRI FORUM “ทางเลือกนโยบาย…เพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีเป้าหมายศึกษานโยบายอุดหนุน “ไฟฟ้าฟรี” ในช่วงรัฐบาล คสช. ปี 2556 – 2558 ที่อุดหนุนไฟฟรีให้แก่ครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนในอดีต หรือ 50 หน่วยต่อเดือนในปัจจุบัน เพื่อประเมินผลนโยบายใน 5 มิติ ได้แก่ 1) การเข้าถึงสิทธิไฟฟ้าฟรีเทียบพื้นที่ครัวเรือนรายได้น้อย 2) การรั่วไหลของนโยบายไฟฟ้าฟรี 3) ความพอเพียงและความเหมาะสมของสิทธิ 4) การบิดเบือนพฤติกรรมของการบริโภคไฟฟ้า 5) ภาระเงินอุดหนุน

โดยได้เสนอ 3 ทางเลือกในการปรับปรุงนโยบายสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาสิทธิที่ยังรั่วไหลและเข้าไม่ถึงผู้มีรายได้น้อยจริง ด้วย 3 นโยบายทางเลือก ได้แก่

- Advertisment -
  1. ใช้กลไกระบุตัวผู้ได้รับสิทธิ ผ่านการลงทะเบียนสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ปี 2560 โดยกระทรวงการคลัง
  2. การระบุตัวผู้มีรายได้น้อยจากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เช่น ข้อมูลจากแผนที่ความยากจนของสำนักงานสถิติแห่งชาติเพื่อระบุพื้นที่ ควบคู่กับขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการระบุตัวคนรายได้น้อย
  3. การระบุตัวผู้มีรายได้น้อยจากข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น ข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลเพื่อการบริหาร (administrative data) เช่น บิลค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ การใช้โทรศัพท์มือถือ

โดยทั้งสามทางเลือก เสนอใช้วิธีการอุดหนุนค่าไฟฟรีแบบเหมาจ่าย แทนการผูกสิทธิกับปริมาณใช้ไฟ ผ่านบัตร smart card เพื่อแก้ปัญหาการมีพฤติกรรมใช้ไฟบิดเบือน และเสนอใช้งบประมาณอุดหนุนที่มาจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือจากงบประมาณประจำปี

ข้อเสนอดังกล่าว สืบเนื่องจากงานวิจัย ซึ่งได้เทียบเคียงสัดส่วนผู้ที่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีกับครัวเรือนรายได้น้อยในแต่ละจังหวัด พบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ค่อนข้างสูงคือร้อยละ 64 ซึ่งหมายความว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนครัวเรือนรายได้น้อยมากจะมีสัดส่วนผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีมากเช่นกัน แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าวประมาณ 10,996 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก นครนายก น่าน และลำพูน อีกทั้งครัวเรือนที่ไม่มีมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของตัวเองก็ไม่ได้รับสิทธิ ได้แก่ กลุ่มผู้เช่าอยู่ และผู้อาศัยในเพิงพักพิงชั่วคราว ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ปี 2558 มีจำนวน 15,497 ครัวเรือน

สำหรับปริมาณไฟฟ้าที่ภาครัฐให้การอุดหนุนให้ใช้ฟรี ในปี 2558 อยู่ที่ไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน พบว่ายังต่ำกว่าความต้องการไฟฟ้าพื้นฐานของครัวเรือนรายได้น้อย เพราะจากการสำรวจของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เมื่อปี 2559 พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนที่มีสมาชิก 2.5 คน มีความจำเป็นในการใช้ไฟขั้นต่ำอยู่ที่ 60 หน่วยต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าที่รัฐอุดหนุน และจำนวนสมาชิกในครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยของไทยส่วนใหญ่มีจำนวนสมาชิกโดยเฉลี่ย 3.3 -3.5 คนต่อครัวเรือน และครัวเรือนรายได้น้อยเกือบ 25% มีสมาชิกมากกว่า 5 คน การอุดหนุนจึงยังไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรมสำหรับครัวเรือนที่มีขนาดใหญ่

ขณะที่ผลการศึกษาปัญหาการรั่วไหลของนโยบายไฟฟ้าฟรี พบว่ายังมีการรั่วไหลไปนอกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งพิจารณาจากครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 50 หน่วยต่อเดือนแต่ไม่สม่ำเสมอ สันนิษฐานว่าอาจเป็นบ้านหลังที่สอง ที่ไม่ควรได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี

“ในช่วงปี 2555 – 2558 พบว่าเงินอุดหนุนที่รั่วไหลในเขต กฟภ. ที่อาจไปยังบ้านหลังที่สอง มีมูลค่าสูงถึง 830 ล้านบาทต่อปี และนโยบายนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดการใช้ไฟฟ้าลง 1-2 หน่วย เพื่อได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี เห็นได้จากข้อมูลการใช้ไฟของไทยในช่วงที่มีมาตรการไฟฟ้าฟรี กระจุกอยู่ที่ 50 หน่วยต่อเดือนเป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีแง่ดีในการลดใช้พลังงาน แต่ก็ได้เพิ่มภาระในการอุดหนุนอย่างน้อย 18 – 23 ล้านบาทต่อปีด้วยเช่นกัน” ดร.วิชสิณี กล่าว

ดร.วิชสิณี ยังวิเคราะห์ว่านโยบายไฟฟ้าฟรี ใช้วิธีการอุดหนุนแบบไขว้ จึงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 โดยภาระเกือบทั้งหมดตกอยู่กับผู้ใช้ไฟประเภทกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม การผลิตอาหาร โรงแรม ผลิตเครื่องจักร สิ่งทอ และเหล็ก ซึ่งถือเป็นภาระที่ไม่สูงมากนัก

Advertisment