จุฬาฯหันขอทุน สกว.ศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

- Advertisment-

จุฬาฯนำแผนงานศึกษาความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ เสนอขอทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แทน หลังแพ้การแข่งขันเป็นที่ปรึกษาโครงการให้คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เชื่อแผนงานจุฬาฯ มีรายละเอียดครบถ้วนแบบเชิงลึก ทำได้จริง ชี้ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซฯ รองรับไฟฟ้าขาด 500 เมกะวัตต์ หากพึ่งพลังงานทดแทนอย่างเดียวไฟฟ้ารวมทั้งประเทศในอนาคตขยับ 8-10 บาทต่อหน่วย 

รศ.สมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้นำแผนงานศึกษาความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ที่เคยจัดทำไว้สำหรับแข่งขันเป็นที่ปรึกษา “โครงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์  สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้” ให้กับ คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้”  มาเสนอให้ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)เป็นผู้สนับสนุนการศึกษาแทน หลังจากที่ทางคณะกรรมการ SEA ไม่เลือกแนวทางศึกษาของจุฬาฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

เนื่องจากเชื่อว่าแผนงานที่ได้จัดทำไว้มีรายละเอียดครบถ้วน โดยเฉพาะประเภทเชื้อเพลิงในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าภาคใต้มาโดยตลอดทำให้มีข้อมูลเชิงลึก  และแผนงานการศึกษาดังกล่าวสามารถดำเนินการได้จริงและจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ หากมีหน่วยงานที่ต้องการข้อมูลด้านความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ที่เชื่อถือได้  และยังมีข้อมูลเชิงวิจัยที่ตรงกับการขอทุนสนับสนุนของ สกว.ด้วย

- Advertisment -

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่จัดทำข้อมูล เบื้องต้นพบว่าพื้นที่ภาคใต้ยังขาดไฟฟ้าอยู่อีก 500 เมกะวัตต์ โดยหากภาคใต้จะใช้พลังงานทดแทนเพียงอย่างเดียวในการผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้น ในอนาคตระยะยาวจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมประเทศพุ่งขึ้นถึง 8-10 บาทต่อหน่วย เนื่องจากพลังงานทดแทนมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าก๊าซฯและถ่านหิน ดังนั้นจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักที่ต้นทุนถูก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียพบว่า มีการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าถึง 40-50% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ขณะที่ไทยผลิตอยู่ 18% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด

โดยยืนยันว่าภาคใต้จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่  โดยโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพและทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมไม่แพงคือ ถ่านหิน ซึ่งหากคนในพื้นที่ยอมรับก็ควรเลือกสร้างเป็นอันดับแรก แต่หากไม่ยอมรับก็เหลือเพียงนิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติ แต่เชื่อว่านิวเคลียร์ยังไม่ใช่แนวทางที่ชาวบ้านจะยอมรับ ดังนั้นก๊าซฯ จึงเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ที่สุด

Advertisment

- Advertisment -.