“กุลิศ” ยันทำหนังสือตอบกลับผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน120วัน มั่นใจPDP2018เดินหน้าต่อได้

- Advertisment-

ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมทำหนังสือตอบกลับคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อน 120 วันมั่นใจแผน PDP2018 เดินหน้าต่อได้ โดยระบุโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่ไม่รวมโรงไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นเจ้าของโครงข่ายเพียงรายเดียว จึงถือว่ารัฐเป็นผู้ลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 51% ตามมาตรา 56วรรค2 ของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2560 แล้ว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการร่างหนังสือเพื่อตอบกลับไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีมีการส่งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการฯ ต่อกระทรวงพลังงาน ให้ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51%  โดยสาระสำคัญของร่างหนังสือ จะชี้แจงรายละเอียดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า  มาตรา56ของรัฐธรรมนูญ  2560 เป็นหลัก ที่ระบุว่า สาธารณูปโภคพื้นฐาน นั้นหมายถึง ระบบเครือข่าย เช่น ถนน ทางด่วน รางรถไฟ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือและสื่อสารไวไฟ และสายส่งไฟฟ้า ซึ่งได้ยกตัวอย่างชัดเจนใน รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร

โดย ในส่วนของโรงไฟฟ้า ไปจนถึงระบบเดินรถไฟฟ้า รัฐสามารถให้เอกชนเป็นเจ้าของได้ และเมื่อสัมปทานระบบ BOT( Build-Operate-Transfer เป็นรูปแบบที่เอกชนผู้รับสัมปทาน เป็นผู้ออกแบบ-ก่อสร้าง-บริหารจัดการ และเมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วก็โอนกิจการและทรัพย์สินคืนแก่รัฐบาล) หมดอายุลง ก็จะกลับคืนไปเป็นของรัฐทั้งหมด

- Advertisment -

ดังนั้น การที่ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศเพียงรายเดียว จึงถือว่ารัฐเป็นผู้ลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 51% ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว  โดยไม่จำเป็นที่ กฟผ.จะต้องเข้าไปถือหุ้นในกิจการโรงไฟฟ้าในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 51%อีก

ทั้งนี้ร่างหนังสือชี้แจงดังกล่าว จะมีการเสนอให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เห็นชอบก่อน จึงจะจัดส่งให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งน่าจะเร็วกว่า 120วัน ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ  ทั้งนี้หากผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการชี้แจงแล้วไม่ติดใจ  ก็เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะยุติลง และแผนPDP2018 ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ แต่หากผู้ตรวจการฯยังมีข้อสงสัย ก็อาจส่งคำวินิจฉัยฯให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ซึ่งผู้ที่สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ มีเพียงครม.และผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น

Advertisment

- Advertisment -.