กฟผ.เตรียมความพร้อม ปรับตัวสู่ธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต

- Advertisment-

หลายคนคงมีข้อสงสัยว่า องค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ด้านไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นเสาหลักในการดูแลด้านความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศ จะปรับตัวอย่างไรในท่ามกลางกระแส Disruption ที่ทำให้ทิศทางธุรกิจผลิตไฟฟ้าเบนสู่พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) มีต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่เตรียมผ่อนคลายกฎระเบียบให้เอื้อต่อผู้ประกอบการเอกชนและครัวเรือน ให้สามารถจะผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายเข้าระบบมากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานการไฟฟ้าของภาครัฐเหมือนเช่นที่ผ่านมา

กองบรรณาธิการศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) จึงได้ประมวลทิศทางการปรับตัวของ กฟผ. จากข้อมูลที่ฝ่ายบริหารของ กฟผ. ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ในเวทีเสวนาวิชาการต่างๆ

โดยต้องยอมรับว่าบทบาทของ กฟผ. ในวันนี้ไม่ใช่ผู้นำในการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นผู้ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง จึงมีเรื่องที่คน กฟผ.จะต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงกระแสหลักที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ กฟผ. ดำเนินการอยู่ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ

- Advertisment -
  1. De Carbonization ที่สังคมโลกให้ความสนใจต่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  2. Electrification ซึ่งเป็นการคิดค้นพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ระบบสายส่งอัจฉริยะ (Smart Grid ) ที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ มีเสถียรภาพ และต้นทุนที่ต่ำลงจนแข่งขันได้กับการผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหิน รวมทั้งการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในภาคขนส่ง ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และรถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างเมือง
  3. Digitalization การพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมและระบบสารสนเทศแบบก้าวกระโดด ลดขีดจำกัดในการประมวลผลข้อมูล ที่เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบไฟฟ้า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบไฟฟ้าแบบปัจจุบัน (Traditional Grid) ไปสู่ระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ (Modernized Grid) และ
  4. Decentralization ทำให้เห็นแนวโน้มของการเกิดโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก ที่ใช้งานร่วมกับระบบสายส่งขนาดเล็ก (Micro Grid) เพื่อส่งไฟฟ้าขายให้กันเองภายในชุมชน โดยไม่ผ่านระบบสายส่งเดิม

จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ เป็นตัวเร่งที่ทำให้ กฟผ.ต้องรีบปรับตัว เพราะการเปิดโอกาสให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ในภาคประชาชนได้มากขึ้น โดยที่ผู้ผลิตสามารถขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือกลับคืนเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าได้นั้น จะส่งผลกระทบต่อ กฟผ. ที่เห็นได้ประการหนึ่ง คือ เรื่องของระบบสายส่งที่อาจต้องขยายเพิ่มขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับโซลาร์เซลล์ของภาคประชาชน และต้องคำนึงถึงกรณีที่ในช่วงเวลากลางวันที่คนจะผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบนั้น กฟผ.จะต้องลดกำลังการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าหลักของตัวเองลง ในขณะที่ช่วงเวลาค่ำที่โซลาร์เซลล์หยุดผลิต และคนหันกลับมาใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่ง กฟผ. ก็จะต้องเร่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ให้รองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้าของ กฟผ. คือการเร่งลงทุนปรับปรุงทั้งระบบสายส่งและตัวของโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนส่งเข้าระบบสายส่งหลักอย่างมีเสถียรภาพ โดยที่ระบบสามารถจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำว่าช่วงไหนจะมีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่าไหร่ และจะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าหลักไว้รองรับอย่างไร

สำหรับในส่วนของโครงสร้างองค์กร กฟผ. เอง ก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน ให้ “Lean” และ “Siloless” เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ มีความกระชับ รวดเร็ว คล่องตัว และสามารถบูรณาการการทำงานให้เข้ากับทุกภาคส่วน ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่เป็นฝ่ายกำหนดนโยบายและกำกับดูแล รวมทั้งส่วนที่เป็นพันธมิตรคู่ค้าและลูกค้าของ กฟผ. ได้

ส่วนบุคลากรในองค์กร เองก็จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดให้สอดคล้อง เดินออกจาก Comfort Zone ที่เคยอยู่เดิม มาสู่บริบทใหม่ของการเปลี่ยนแปลง  ต้องปรับตัวเองให้มีหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship  ที่สามารถนำความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอดให้เป็น Product หรือ Service  ที่โดดเด่นและมีคุณค่าต่อสังคมไทยได้  โดยที่ยังคงรักษาจุดยืนของ กฟผ. ในฐานะที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าของประเทศ  ที่ต้องดำเนินกิจการให้มีกำไรเพื่อสร้างการเติบโตขององค์กร บนพื้นฐานที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติเป็นสำคัญได้

โลกของ Disruption ในภาคธุรกิจไฟฟ้า ที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว ดูท่าแล้วจะไม่ปราณีต่อองค์กรพลังงานใดๆที่ปรับตัวช้า เมื่อกฎระเบียบ กติกาการแข่งขันต่างๆ กำลังปลดล็อคให้ทุกคนเข้ามาผลิตไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อขีดความสามารถและศักยภาพของคน กฟผ. เป็นอย่างมาก ซึ่งผู้บริหารระดับสูงได้ประกาศเตรียมพร้อมแล้วที่จะนำพาองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้  จึงต้องเอาใจช่วยให้รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าของประเทศแห่งนี้ ยังคงภารกิจที่เสริมสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศ ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

Advertisment

- Advertisment -.