กกพ. เตรียมชี้แจงหลักเกณฑ์โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน มี.ค.นี้ ชี้รับซื้อที่ 1.6-1.8 บาทต่อหน่วย

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดชี้แจงรายละเอียดโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนนำร่อง ปีละ 100 เมกะวัตต์ 10 ปี ภายในเดือน มี.ค. 2562 นี้ เผยอัตรารับซื้อไฟฟ้าเบื้องต้น 1.6 -1.8 บาทต่อหน่วย ด้านความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าขยะชุมชน จ่อเปิดรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วมเพิ่มอีก 1 ราย ประมาณ 5 เมกะวัตต์ เร็วๆนี้   

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. เตรียมชี้แจงรายละเอียดโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ภาคประชาชน ในเดือน มี.ค. 2562 นี้ โดยจะนำร่องเปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 10 ปี ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018 ที่กำหนดให้รับซื้อรวม 10,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผน โดยค่าไฟฟ้าเบื้องต้นจะรับซื้อในราคาประมาณ 1.6 -1.8 บาทต่อหน่วย โดยภายหลังชี้แจงโครงการดังกล่าวแล้ว กกพ.จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนและจะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในปี 2562 นี้ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม กกพ.จะต้องหารือกับ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)  และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชน รวมทั้งจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ว่าจะให้กลุ่มผู้นำร่องผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่เคยดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2559 สามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ ทั้งนี้ ในปี 2562 นี้ จะไม่มีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆ เข้าระบบแต่อย่างใด ทำให้ค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนยังอยู่ระดับเดิมที่ 25 สตางค์ต่อหน่วย

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า แม้ว่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปนำร่องดังกล่าวในปี 2562 นี้ แต่คาดว่าจะเริ่มการผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date -COD) ได้จริงช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากเป็นโครงการโซลาร์ภาคประชาชนครั้งแรกของประเทศไทย จึงต้องดำเนินกระบวนการให้ชัดเจนและเหมาะสม ก่อนจะเปิดรับซื้อจริงต่อไป ดังนั้น ในปีนี้ จึงจะไม่มีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆ เข้าระบบเพิ่ม

ส่วนความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้น กกพ. เตรียมประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการอีก 1 ราย กำลังการผลิตประมาณ 5 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ประกาศไปแล้ว 3 ราย

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน เป็นโครงการที่อยู่ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรับซื้อไฟฟ้าประมาณ 78 เมกะวัตต์ (MW) หรือ Quick Win Projects  ซึ่งมีบัญชีความพร้อมของโครงการ จากกระทรวงมหาดไทย 12 โครงการ 8 พื้นที่ โดย กกพ. ได้ขยายเวลารับข้อเสนอโครงการจาก 1 ธค.2560 -30 ก.ย. 2561 เป็น 1ธ.ค. 2560 – 31 มี.ค.2562 โดยยืนยันว่าจะไม่มีการขยายการเปิดให้ยื่นคำร้องอีกหากไม่มายื่นก็จะตัดสิทธิ์ทันที

นอกจากนี้ กกพ. ยังเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะชุมชน ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เบื้องต้นมีราคารับซื้ออยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20-25 ปี เพื่อให้ครบตามเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าขยะชุมชนที่กำหนดไว้ในแผน PDP2015 เดิม 500 เมกะวัตต์ ส่วนตามแผน PDP2018  ที่มีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนอีก 400 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยรายละเอียดพื้นที่ต้องรอการกำหนดหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยก่อน

สำหรับการเปิดแข่งขันรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) ภายใต้ PDP2018  ประมาณ 8,300 เมกะวัตต์นั้น นางสาวนฤภัทรชี้แจงว่า จะต้องรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานให้ชัดเจนก่อน แต่ระยะเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายคือการเปิดประมูลในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันตก เพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2567-2568  จำนวน 700 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง

Advertisment