กกพ. คาดต้นทุนค่าไฟปี 2562 สูงขึ้นจากการรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานทดแทน

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาด การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งผล Ft ปี 2562 แตะ 27.34 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่ารวม 47,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่กระทบอยู่ 25.17 สตางค์ต่อหน่วย โดยจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหลายโครงการ ที่ดำเนินการสร้างเสร็จแล้ว และจะทยอยเข้าระบบไฟฟ้าปี 2562 เช่น ลม ขยะ โซลาร์ฟาร์มราชการสหกรณ์เฟส2

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. ได้ประเมินนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอดีต ทั้งในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) และการสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีดอินทารีฟ) หรือ Fit พบว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) ในปี 2562 อยู่ที่ 27.34 สตางค์ต่อหน่วย หรือ คิดเป็นมูลค่ารวม 47,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี  2561 ที่มีผลกระทบต่อค่า Ft อยู่ที่ 25.17 สตางค์ต่อหน่วย หรือ คิดเป็นมูลค่ารวม 43,279 ล้านบาท

โดยการประเมินที่พบว่าค่า Ft จะเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากในปี 2562 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงาน  ทดแทนตามนโยบายของภาครัฐที่ผ่านมา ที่มีกำหนดต้องเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในหลายโครงการ เช่น  โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์การเกษตร (โซลาร์ราชการและสหกรณ์) ระยะที่ 2

- Advertisment -

ทั้งนี้ ต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แยกตามประเภทเชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบต่อค่า Ft ในงวดสุดท้ายของปี 2562 (ก.ย.-ธ.ค) พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มีมูลค่าสูงสุด อยู่ที่ 7,759 ล้านบาท ชีวมวล 3,173 ล้านบาท ขยะ 1,986 ล้านบาท และลม 2,803 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Quick Win Projects) จำนวน  8 พื้นที่ 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพื้นที่ไว้ และ กกพ. กำหนด COD ในปี 2564 ขณะนี้ มีผู้ประกอบการบางรายได้ยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาที่ กกพ. แล้ว

ส่วนในอนาคตจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเติมหรือไม่นั้น กกพ. ยังรอนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้น่าจะอยู่ในขั้นตอนประสานงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนหลังจากการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ แล้วเสร็จ

Advertisment

- Advertisment -.